“เป็ดไงใครว่าแย่ : เสียงสะท้อนจากนักจัดการเนื้อหา ผู้ประกาศตัวว่า ฉันคือ “เป็ด” ที่สนุกกับการแหวกว่ายใน “หม้อจับฉ่าย”


เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวประมาณว่า “อย่าทำตัวเป็นเป็ด ที่ทั้งว่ายน้ำได้ เดินบนบกก็ได้ แต่ทำได้ไม่ดีสักอย่าง” กันมาบ้าง พอได้ฟังอย่างนี้แล้ว บางคนอาจพยายามดิ้นรนหลบลี้หนีการเป็น “เป็ด” อย่างสุดฤทธิ์ พยายามค้นหาสิ่งที่ตัวเองเก่งมาก ๆ สักอย่าง หรือมีความรู้อย่างลึกซึ้งสักทาง เพื่อไม่ให้ใครมาตีตราได้ว่าเป็นคนที่รู้อะไร ๆ แค่เพียงผิวเผินแบบกว้าง ๆ เท่านั้น

แต่สำหรับ ปฐมาภรณ์ วิโรจน์พันธุ์ หรือ พี่ฝน นักจัดการเนื้อหา และผู้บริหารแห่งบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่ผู้เขียนคุ้นเคย และเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังผลงานคุณภาพหลายชิ้น ซึ่งนำเสนอเนื้อหาหลากแขนง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ในศูนย์การเรียนรู้ “ราชานุรักษ์” กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ เนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ในสารคดีชุด Siam Arts อำนวยการสร้างโดยกระทรวงวัฒนธรรม หรือเนื้อหาด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ในหนังสือ “ครูสร้างชาติ” โครงการรางวัลบัณณาสสมโภช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผลงานอื่น ๆ อีกมากมายตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี กลับยืดอกรับฉายา “เป็ด”  “จับฉ่าย” หรือจะเรียกให้ดูอินเตอร์ขึ้นมาหน่อยก็ได้ว่าเป็น “Jack of all trades” ประจำทีมพลีอาดีส บางกอก อย่างภาคภูมิใจ

“ถ้าจะให้บอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งคงจะไม่มี แต่คิดว่าคงชำนาญด้านการหาความรู้ใหม่ ๆ (หัวเราะ)”

‘มนุษย์ไร้แนว รื่นรมย์กับการเสพมหรสพ ดนตรี และหนังสือดี ๆ ไม่จำกัดสไตล์ ลิ้มลองอาหารไม่จำกัดสัญชาติ และเรียนรู้โลกกว้างไม่จำกัดวัฒนธรรม’ คือสิ่งที่พี่ฝนจำกัดความตัวเอง ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้รู้จักพี่ฝนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร คงต้องขอยืนยันว่าจริงตามนั้น เพราะการเสพไม่เลือก (หมายถึงเสพสาระความรู้ต่าง ๆ น่ะ) ทำให้พี่ฝนมีความรู้ก้นหีบอยู่สารพัด พร้อมสำหรับการหยิบนำมาใช้สำหรับการทำงานในฐานะนักจัดการเนื้อหา และพาตัวเองไปเปิดโลกใหม่ ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ  

กำเนิด “เป็ด”

บางทีอาจเป็นเพราะตลอดระยะเวลา 6 ปีของการเป็นลูก / หลานคนเดียวของบ้าน เด็กหญิงฝนเติบโตขึ้นมาท่ามกลางผู้ใหญ่ต่างวัยที่มีความสนใจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี กีฬา มหรสพไม่จำกัดชนิด รวมถึงหนังสือหลายประเภทเท่าที่มีอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นนิทาน วรรณกรรมเยาวชน  ไปจนถึงสารานุกรมเล่มหนาเตอะของคุณปู่

“ความสนใจของเรามันมาจากความสนใจของคนอื่นที่อยู่รอบตัวเรา หรือมีอิทธิพลกับเราอีกที” พี่ฝนกล่าว ซึ่งก็อาจจะจริงตามนั้น เพราะพอได้เข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา โลกใบเล็ก ๆ ของเด็กหญิงฝนก็ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อได้พบกับบรรดาเพื่อนฝูงที่มีพื้นฐานครอบครัวและความสนใจแตกต่างกันไป จากการซึมซับสิ่งต่าง ๆ จากคนในบ้าน ก็เริ่มเปิดรับสิ่งที่เด็กวัยเดียวกันสนใจ

ในระหว่างช่วงที่ได้เก็บเล็กผสมน้อยจากความชอบของคนรอบตัว พี่ฝนก็ได้ค้นพบสิ่งหนึ่งที่ตัวเองชอบมาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ “วรรณกรรมเยาวชน”

“วรรณกรรมเยาวชนทำให้เรากลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือเพราะมันต้องอ่านต่อเนื่องจนจบ พอเริ่มอ่านหนังสือยาว ๆ ได้ก็เลยอยากลองอ่านนู่นนั่นนี่” พี่ฝนย้อนความถึงจุดกำเนิดของนิสัยรักการอ่าน ที่เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเลือกศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ในสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพราะต้องการ “เรียนอะไรก็ได้ ที่ได้อ่าน ได้เขียน และได้เล่าเรื่อง” ซึ่งสาขาที่พี่ฝนเลือกนี้ก็ตอบโจทย์ความชอบที่ว่า และทำให้มีความสุขกับการเรียนตลอดสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย

“จริง ๆ การเรียนสาขาวรรณกรรมเด็กเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นเป็ด” พี่ฝนกล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรวรรณกรรมสำหรับเด็กเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว “มันสอนการเล่าเรื่อง การคิดเรื่อง การเขียน การแปล วาดภาพ และการทำสื่อ ต้องเรียนจิตวิทยา เรียนปรัชญา และพัฒนาการเด็ก เรียกว่าเป็นจับฉ่ายเพื่อเด็กและเยาวชน”

ถึงชื่อสาขาจะบอกว่าเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก แต่แท้จริงแล้วการผลิตผลงานเพื่อเด็กและเยาวชนนั้น นอกจากจะต้องมีเนื้อหาที่เด็กเข้าใจได้แล้ว จะต้องคำนึงถึงผู้ปกครองผู้เป็นคนที่จ่ายเงินซื้อผลงานชิ้นนั้น ๆ ไปให้เด็ก ๆ อ่านอีกด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานแบบไหนออกมา นิสิตสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กจะต้องคำนึงถึงผู้บริโภคในแบบที่เรียกได้ว่า “เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่ซื้อดี” เสมอ และสิ่งนี้เอง อาจเป็นการปลูกฝังพื้นฐานแนวคิดการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือ tailor-made โดยที่พี่ฝนไม่รู้ตัว และคงไม่นึกว่านี่จะเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการทำงานตลอด 12 ปีที่พลีอาดีส บางกอก

“ตอนเรียนอะ ไม่รู้ตัวนะ ไม่เข้าใจ แต่พอเรียนจบจนมาทำงานถึงได้รู้ว่าโจทย์ต่าง ๆ ที่ได้จากลูกค้า ก็เหมือนกับตอนทำชิ้นงานสมัยเรียน”

การเรียนในสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ถึงพี่ฝนจะบอกว่าเหมือนเป็นจับฉ่ายหม้อโต แต่ยังไงจับฉ่ายก็เต็มไปด้วยผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนานาชนิด และช่วยให้พี่ฝนรู้ว่าจะเลือกทำงานแบบไหนให้สอดคล้องกับความชอบและความถนัดของตัวเอง

“เป็ด” กล้าขาแข็ง

จากสารพันสิ่งที่พี่ฝนได้ร่ำเรียนจากสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก สิ่งที่พี่ฝนพบว่าตัวเองทำได้ดีคือการเขียนงานประเภท non-fiction เช่น สารคดี หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร นี่จึงเป็นแนวทางให้พี่ฝนสมัครงานกับนิตยสารหลายหัว และในที่สุด พี่ฝนก็ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่กองบรรณาธิการฝ่ายสารคดีของนิตยสาร “ครัว”

“ ‘ครัว’ นี่แหละที่ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรม” พี่ฝนกล่าว เพราะเมื่อได้ทำงานด้านสารคดีอย่างเต็มตัว พี่ฝนจึงได้ออกเดินทางต่างจังหวัดไปสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อเก็บข้อมูลมาผลิตงาน ได้ไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ได้ออกไปสัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้า จากที่เมื่อก่อนรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการอ่าน การเห็น และการดู  ซึ่งเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็กจบใหม่ที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แค่ในเมืองกรุงเป็นส่วนใหญ่  

เมื่อได้เจอและพูดคุยกับผู้คนที่มีพื้นเพหลากหลาย พี่ฝนจึงได้ฝึกทักษะที่เสริมส่งกับการเพิ่มพูนความรู้ได้ไม่รู้จบอีกอย่าง นั่นก็คือ การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน “มันเริ่มทำให้เรารู้ว่าเราจะต้องปรับวิธีการพูดคุยกับคนที่เราไม่คุ้นเคยยังไง ต้องไปนั่งกินเหล้าขาวกับคุณลุงเพื่อให้เขาเล่านู่นเล่านี่ให้เราฟัง ตัดภาพไปอีกที เราก็ไปสัมภาษณ์เชฟโรงแรมห้าดาวแล้ว”

หลังจากทำงานที่กองบรรณาธิการฝ่ายสารคดีได้หนึ่งปีพอดี เป็ดที่กระหายความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างพี่ฝน จึงย้ายจากบ่อน้ำไปอยู่บึงใหม่ โดยการเริ่มมาจับงานด้านการทำสารคดีทางโทรทัศน์ เปลี่ยนจากการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรเพียว ๆ  สู่การเล่าเรื่องด้วยสำนวนภาษาพร้อมภาพเคลื่อนไหว

“เราอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่สมัยเรียน เลยอยากรู้ว่าถ้าเราเปลี่ยนไปเล่าเรื่องแบบอื่นจะเป็นยังไง”

งานนี้ เป็ดพี่ฝนไม่ได้ว่ายน้ำวนอยู่ในประเทศอย่างที่เคย แต่ได้บินข้ามทวีปเพื่อไปผลิตสารคดีชุด “รอยพระยุคลบาทต่างแดน” ของรายการโลก 360 องศา ไกลถึงทวีปยุโรป

สารคดีชุดนี้เล่าเรื่องราวการตามเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่ฝนมีความรู้เดิมแทบจะเป็นศูนย์ จึงต้องอาศัยการค้นคว้าอย่างหนักหน่วงเพื่อที่จะผลิตงานชิ้นนี้ขึ้นมา นับว่า “เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ต้องใช้การค้นคว้า” ทั้งการหาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหา และสถานที่ถ่ายทำซึ่งไม่ได้มี Google Map หรือ Google Street View ช่วยผ่อนแรงและอำนวยความสะดวกเหมือนในสมัยนี้ นอกจากนี้ ยังต้องประสานงานกับชาวต่างชาติที่มีความแตกต่างทั้งด้านวัฒนธรรม ไทม์โซน และตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงระดับอาร์คบิชอฟ! (พี่ฝนบอกว่าอย่าว่าแต่พระฝรั่งเลย แค่เขียนจดหมายทางการถึงพระไทยตอนนั้น ก็ยากแล้ว)

ตลอดระยะเวลาร่วมปี พี่ฝนค้นคว้าข้อมูล เขียนบท และเดินทางไปหลายประเทศในยุโรปเพื่อถ่ายทำสารคดีชุดนี้ร่วมกับ พี่ไก่ - นิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้เป็นหัวหน้างาน และหัวหน้าโปรเจคในเวลานั้น ก่อนจะกลายเป็น 1 ใน 3 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด และทำงานร่วมกันมาจนถึงตอนนี้ก็กว่า 12 ปีแล้ว

“เป็ด” หลายบ่อ

“พี่ไก่บอกว่าจะไปบุกเบิกก่อตั้งบริษัท เพื่อทำงาน content-based อย่างไม่จำกัดรูปแบบ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่า content-based มันคืออะไร แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่า เราจะได้ทำทั้งงานด้านสื่อสารคดีโทรทัศน์ แล้วก็งานเขียน แล้วก็งานอื่น ๆ ที่อิงจากงานอ่านเขียน พอเขามาชวน เราก็เลยไปทำ” พี่ฝนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมาทำงานที่พลีอาดีส บางกอก “ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเยอะว่าจะต้องไปทำงานกับบริษัทอะไร แต่เราอยากรู้ว่าจะได้ทำอะไรบ้าง ก็เลยหลงเชื่อเขามา” (?)

แรกเริ่มเดิมที พี่ฝนทำงานที่พลีอาดีส บางกอก ในฐานะ Content Creator หรือ นักสร้างสรรค์เนื้อหา ซึ่งแตกต่างไปจากการทำงานตำแหน่งบรรณาธิการ หรือคนเขียนบทโทรทัศน์ที่เคยทำ เพราะด้วยความที่พลีอาดีส บางกอกรับงานสร้างสรรค์เนื้อหาให้แก่สื่อแบบไม่จำกัดประเภท โจทย์งานที่ได้รับจากลูกค้าจึงมีความหลากหลาย ผลลัพธ์ของงานจึงมีหลายรูปแบบ แค่สองสามงานแรกนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท พี่ฝนก็ได้ทำสิ่งที่ไม่ซ้ำกันแล้ว

“งานแรกรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และเขียนบทให้ VTR ครบรอบ 40 ปีของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง อีกงานคือทำ Behind the Scene ให้ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ฟอร์มใหญ่เรื่องหนึ่ง” พี่ฝนเล่า “มันก็คือทำสื่อนั่นแหละ แต่ตัว output มันหลากหลาย เลยต้องเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องไปตามรูปแบบของสื่อที่ได้ทำมาตลอด”

ตลอด 12 ปีของการทำงานที่พลีอาดีสบางกอก เรียกได้ว่าพี่ฝนเคยผลิต contentให้ลูกค้าที่มาจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงวิทยาศาสตร์บริสุทธิที่ตัวเองขยาดมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แต่ก็ต้องมารับผิดชอบการคิดเนื้อหาให้นิทรรศการประวัติภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แวดวงประวัติศาสตร์เมื่อต้องผลิตสารคดี และหนังสือพระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แวดวงศาสนาและธรรมะยามต้องคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมสามเณร 12 รูปอยู่เป็นเดือน เพื่อเขียนบทสรุปกิจวัตรประจำวันให้รายการ “สามเณร ปลูกปัญญาธรรม” มาหลายต่อหลายซีซั่น หรือแม้กระทั่งวงการบันเทิง ที่พี่ฝนเองก็ไม่คิดไม่ฝันว่าเส้นทางการทำงานของตัวเองจะได้มาบรรจบพบเจอ จากการทำงานถ่ายทอดเบื้องหลังภาพยนตร์

“ความโชคดีของการทำงานที่นี่คือ โจทย์งานมันไม่ซ้ำเลยอย่างแท้จริง มันเลยถูกใจคนอย่างเราที่ชอบทำสิ่งที่ไม่เคยทำ (หัวเราะ)” พี่ฝนกล่าวถึงประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมากับพลีอาดีสบางกอก “มันมีความกลัวทุกงานนะ เวลาทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ทุกอย่างมันจะสลายไปตอนที่เริ่มทำ แล้วมันก็จะเริ่มสนุกกับการที่ได้ทำเรื่องใหม่”

“อย่างเช่นงานที่ทำนิทรรศการให้ภาควิชาฟิสิกส์  เดิมทีเราเกลียดทุกอย่างที่เป็นคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เชื่อมาตลอดว่าตัวเองไม่สามารถทำงานเกี่ยวกับสิ่งนี้ได้ แต่พอได้ทำแล้วก็ได้รู้ว่า เรื่องหลาย ๆ อย่างที่เราคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่าจะเข้าใจมันได้ อย่างเช่นเรื่องของฟิสิกส์ มันมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวันโดยที่เราไม่เคยรู้เลย”

ด้วยลักษณะของเนื้องานที่แตกต่างกันนี้ ทำให้พี่ฝนได้สะสมความรู้เพื่อเป็นต้นทุนรับกับความท้าทายของโจทย์การทำงานใหม่ ๆ ที่เข้ามา และยังคงความหลากหลายตลอด 12 ปี พี่ฝนจึงได้ใช้ประโยชน์จาก “ความรู้แบบเป็ด ๆ” ของตัวเองตลอดมา

“เราอาจจะไม่เข้าใจความรู้ที่ได้จากบางงานได้เต็มที่ แต่ทุกงานก็จะมีพื้นฐานบางส่วนที่เราคุ้นเคยจากการพูดคุยกับคนอื่น หรืออ่านผ่านตามา เหมือนเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ในกระเป๋าที่งัดเอามาใช้หาความรู้เพิ่มเติม และเชื่อมโยงกับงานใหม่ที่ได้รับโจทย์มา”

หลังจากที่เก็บชั่วโมงบินกับการเป็นนักจัดการเนื้อหาหลากหลายรูปแบบมาเป็นเวลานาน ตอนนี้พี่ฝนกำลังเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะผู้บริหาร บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด ซึ่งกำลังเริ่มต้นรอบนักษัตรที่ 2 ด้วยเป้าหมายในการปรับโฉมบริษัทให้มีความสดใหม่ ทันสมัย ใกล้ชิดผู้คนวงกว้างมากขึ้น บนรากฐานงานคอนเทนต์ที่เข้มแข็งหนักแน่นและเชื่อถือได้เช่นเดิม

“เป็ด” ต่อยอด

ระหว่างการทำงานที่พลีอาดีสบางกอกมานานกว่าทศวรรษ แม้เป็ดที่ชื่อฝนตัวนี้จะเคยลองแหวกว่ายไปตามบึงนั้นที บึงโน้นทีตามโจทย์งานที่เข้ามา แต่ความชอบที่มีต่องานเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมก็ไม่เคยเปลี่ยนแปร ประกอบกับกระแส creative economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์กำลังเป็นที่สนใจ จึงเป็นเหตุให้พี่ฝนตัดสินใจศึกษาต่อในหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แม้แต่สิ่งที่เลือกเรียนยังเป็นสไตล์เป็ดเลย (หัวเราะ)” พี่ฝนจำกัดความหลักสูตรนี้ ซึ่งเป็นการเรียนแบบสหสาขา หรือ Interdisciplinary ที่ผู้เรียนจะได้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการทางวัฒนธรรมใน 3 หัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การจัดการพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ และ การบริหารจัดการการแสดง เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าให้แก่ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ 

“การจัดการวัฒนธรรมเหมือนเป็นการสร้างโอกาสจากรากฐาน มันไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนในอดีต แต่เป็นอุตสาหกรรมของอนาคตที่กำลังแพร่หลายขยายตัวในปัจจุบัน ลองมองไปรอบตัว เราจะเห็นว่าในยุคนี้ ทุกประเทศใช้วัฒนธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมันทำให้แต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงชุมชน สามารถเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นมูลค่าได้” 

“จริง ๆ วัฒนธรรมมันเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั่วไปทั้งหมด แต่เผอิญงานที่เราทำมาส่วนใหญ่ มันเหมือนเป็นการเอาวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าอยู่บ่อย ๆ พอเรามาย้อนดูงานหลาย ๆ อย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สารคดี หรือพิพิธภัณฑ์ มันมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่เบื้องหลังตลอด เช่น ตอนทำสารคดีเกี่ยวกับโรงเรียนนายเรือ เราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของทหารเรือมามากมาย” พี่ฝนกล่าว “เหมือนเราเรียนปฏิบัติมาเยอะ เราเลยอยากเอาประสบการณ์มาเรียนรู้เพิ่มในเชิงหลักการบ้าง” 

ด้วยความที่พลีอาดีส บางกอกรับทำ content ที่มีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหลายแง่มุม เมื่อได้ศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ พี่ฝนจึงรู้สึกว่าสามารถเข้าใจเนื้อหา และเชื่อมโยงความรู้ที่ได้ เข้ากับประสบการณ์ที่ผ่านมาได้อย่างรวดเร็ว

“การจัดการมันเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำทุกสิ่งในลุล่วง และส่วนใหญ่การจัดการวัฒนธรรมก็จะมีพื้นฐานมาจากการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม หรือ content มาเล่าเรื่องให้น่าสนใจ” พี่ฝนกล่าว “ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์การทำ creative district หรือ creative economy ที่คนเริ่มสนใจกันมากขึ้น สุดท้ายแล้วเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้คนอยากมาซื้อ มาฟัง มาดู หรือมามีประสบการณ์ใด ๆ ทั้งหมดก็ต้องย้อนกลับมาทบทวนเลือกใช้ content เป็นเครื่องมือพื้นฐาน แต่การเข้าใจมิติต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม และเครื่องมือด้านการบริหารจัดการ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราจัดระเบียบไอเดียได้เป็นระบบ และขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น”

แม้พี่ฝนกำลังจะได้เป็นมหาบัณฑิตด้านการจัดการทางวัฒนธรรมใน (หวังใจว่า) อีกไม่นาน แต่การต่อยอดความรู้ของเป็ดตัวนี้จะไม่มีทางสิ้นสุดหลังจากได้ใบปริญญา และยิ่งไปกว่านั้น โลกทัศน์และสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาต่อครั้งนี้ ย่อมจะถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิต content อย่างสร้างสรรค์ และน่าสนใจยิ่งขึ้น

เป็ดสรุป

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของการเป็นเป็ด สิ่งต่าง ๆ ที่พี่ฝนเคยได้รับรู้มาไม่เคยผ่านมาแล้วผ่านไปแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่ถูกสะสมเอาไว้เพื่อให้สามารถหยิบเอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

“เราค่อย ๆ เห็นประโยชน์ของการเป็นคนที่สนใจอะไรหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลัง ๆ ว่ามันมีส่วนช่วยในการทำงานค่อนข้างเยอะ” พี่ฝนพูดถึงข้อดีของการเป็นเป็ด “เราไม่รู้ว่ามันดีสำหรับทุกวิชาชีพไหม แต่สำหรับงานของเรา มันทำให้เราไม่รังเกียจที่จะรู้อะไรใหม่ ๆ เหมือนเราได้ขยาย comfort zone ออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งบางโซนก็อาจจะเป็นเบาะแข็ง ๆ บางโซนก็เป็นโซฟา หรือไม่ก็เป็นเตียงนุ่ม ๆ ไปเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่โซนไหนไม่ได้เลยซะทีเดียว” 

“ข้อดีของการเป็นเป็ดอีกข้อหนึ่งคือ มันจะทำให้เราไม่รู้สึกว่า ‘ฉันเก่ง’ เราเลยไม่หยุดที่จะหา input ให้กับตัวเอง” พี่ฝนกล่าวเสริม “มันเป็นยุคที่โลกไร้พรมแดน เราเห็นโลกได้กว้างขึ้น ทำให้เราสามารถรู้ลึกในเรื่องที่เราสนใจ และเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่เข้ามาได้พร้อม ๆ กัน” 

การมีความรู้ลึกซึ้งเฉพาะทางนั้น มีประโยชน์และคุณค่าในแบบของตัวเองอย่างแน่นอน ขณะที่การรอบรู้หลาย ๆ อย่างแบบที่เขาชอบเรียกกันว่า “รู้อย่างเป็ด” นั้น ก็อาจจะเป็นช่องทางสำคัญที่เปิดโลกของเราให้กว้างไกลได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกเป็นคนที่รู้ลึกในเรื่องเดียว หรือจะเป็นคนรู้รอบเรื่องละนิดละหน่อย อย่างน้อยขอแค่ให้เราอย่าหยุดเรียนรู้ และพร้อมที่จะพาตัวเองไปสัมผัสเรื่องราวหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยพบเจอก็แล้วกัน 

เพราะแค่เมื่อถึงวันพรุ่งนี้ โลกก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอีกหลายอย่างแล้ว

Tags: พลีอาดีส Pleiades สารคดี content เป็ด creative economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์