คุยกับ “ทองเอก ยุค 2019” ว่าที่คุณหมอสายประดิษฐ์และนักคิดเพื่อชุมชน


จากเรื่องราวของละคร  “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ละครดังของบ้านเราที่เพิ่งจบไป หากลองมองลึกลงไปในเนื้อหาละคร นอกเหนือจากความสนุกสนานที่ได้รับแล้ว เรื่องราวของทองเอกยังสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของตัวละครนำ ซึ่งไม่ได้เป็นหมอยาที่เก่งอย่างเดียว แต่ยังมีความตั้งใจมุ่งมั่นอยากนำความรู้ที่ตัวเองมีอยู่ไปช่วยเหลือชาวชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหมือนกับที่มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย (Pfizer Thailand Foundation) ได้ถ่ายทอดปณิธาน “ส่งต่อการให้” หรือ Pay It Forward สู่นักศึกษาแพทย์และเภสัชกรจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิฯ เพื่อต่อยอดช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่า เพื่อมอบสิ่งดีๆ มอบกลับคืนสู่สังคมดังเช่นที่ตนเองได้รับ วันนี้เรามีตัวอย่างของหมอทองเอก ในยุค 2019 ที่นอกจากจะเป็นว่าที่คุณหมอแล้ว ยังเป็นทั้งนักคิดและนักประดิษฐ์ เพื่อคุณภาพชีวิตผู้คนและสังคมไทย

นายณฐนนท์ พยุงศักดิ์สกุล หรือ ไนซ์ นักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์ ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในนักเรียนทุนฯ กล่าวว่า “คนเรียนแพทย์จำเป็นต้องรู้เรื่องของการบริหารคน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อมาปรับใช้ในวิชาชีพ เพราะแพทย์ต้องทำงานกับบุคลการหลายแผนก ทั้ง พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เภสัชกร  และแพทย์สาขาอื่นๆ  รวมทั้งผู้ป่วยด้วย ที่ผ่านมาผมเองมีโอกาสทั้งเป็นประธานกิจกรรม Open House แนะนำความน่าสนใจของคณะให้กับรุ่นน้องที่กำลังจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นผู้ที่ดูภาพรวมของแต่ละฝ่าย แก้ไขปัญหา และติดตามความคืบหน้าของส่วนต่างๆ  และยังมีโอกาสทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์คืนสู่สังคมด้วย โดยได้ทั้งเป็นอาสาสมัครลงพื้นที่ชุมชน ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดัน ชาวบ้านและผู้ป่วยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะเหมือนเรามาช่วยสนับสนุนให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงพื้นที่ที่เขาสามมุก จ.ชลบุรี ทำให้เห็นวิถีชีวิตว่าชาวบ้านจำนวนมากมีอาชีพแกะหอยขาย ต้องนั่งแกะหอยเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกันทั้งวัน เลยทำให้ร่างกายมีค่า BMI (ค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัวและส่วนสูง) ที่วัดได้เกินค่ามาตรฐาน เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย จึงเกิดแนวความคิดจัดทำโครงการ “ห่วงใย ไร้พุง” ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน รณรงค์ชาวบ้านและผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนเขาสามมุกมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถทำได้ตลอดเวลา และทำได้เองที่บ้าน อาทิ การแกว่งแขน แกว่งขา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 50 คน เลยยิ่งทำให้เรามีกำลังใจและแรงบันดาลใจ จนมีความตั้งใจอันแน่วแน่ว่า ในอนาคตจะนำโครงการดังกล่าวสานต่อให้รุ่นน้องรับช่วงปฏิบัติเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนต่อไป”

ส่วน นายพงศ์พันธุ์ ไมตรีอโนทัย หรือ เพื่อน นักศึกษาแพทย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ปี 5 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า “โดยส่วนตัวชอบเข้าร่วมกิจกรรมที่ได้ช่วยเหลือผู้คนอยู่เสมอ เมื่อได้มีโอกาสลงพื้นที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย การไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวช การลงพื้นที่ที่ดอยแม่ฟ้าหลวงและดอยแม่สลองนอก ฯลฯ ทำให้เห็นถึงความยากลำบากของชาวบ้านที่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ และยังพบว่าเด็กอายุ 6-12 ปีที่มีปัญหาเรื่องข้อติด แขนขาขยับลำบาก ซึ่งมีสาเหตุจากโรค Cerebral palsy (กลุ่มอาการสมองพิการทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ) หากปล่อยไว้ทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดภาวะพิการถาวร ขณะเดียวกันแม้ข้อจะติด แต่มือและนิ้วยังใช้งานได้ จึงอยากช่วยให้เยาวชนเหล่านั้นสามารถช่วยตัวเองได้มากกว่านี้ เป็นที่มาของแนวคิดในการประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหว บริหารแขน ขา ควบคุมด้วยปุ่มง่ายๆ โดยได้นำผลงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ส่งเข้าประกวดใน “วันนักประดิษฐ์ 2561” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จนได้รับรางวัลเหรียญเงิน ซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์ถึงประโยชน์และคุณค่าของสิ่งประดิษฐ์นี้ จึงมีความคิดตั้งใจว่าน่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากได้เอาอุปกรณ์ดังกล่าวนำกลับขึ้นไปให้เด็กๆ บนดอยเหล่านั้นได้ใช้ประโยชน์จริงต่อไป ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย ตอนนี้เรียนอยู่ปีสุดท้ายแล้ว ได้มีโอกาสทำงานอยู่เวรนอกเวลาที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์กับโรงพยาบาลกลางสลับกัน โดยรับผิดชอบอยู่แผนกอายุรศาสตร์ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการก็จะเป็นผู้สูงอายุ จึงตั้งใจว่าเมื่อจบอยากเป็นแพทย์เฉพาะทางด้าน ออร์โธปิดิกส์ หรือสูตินรีเวช หรืออายุรศาสตร์เพื่อชุมชน"

ด้าน นางสาวรอฮานี เจะสมะแอ หรือ แนน อายุ 20 ปี นักศึกษาแพทย์ ปี 6 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชครินทร์ กล่าวว่า “การได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยตั้งแต่อยู่ปีที่ 1 จนถึง ปีที่ 6 เอื้อโอกาสให้ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ค่ายมหิดล เป็นกิจกรรมที่รวมนิสิตนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพจากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมตอบแทนสังคม รวมถึงการลงตรวจในพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้นยังเคยทำกิจกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยการเข้าไปช่วยทางโรงพยาบาลทำเแบบสำรวจสุขภาพผู้ป่วย ทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรม จะทำที่จังหวัดสงขลาเป็นหลัก จากการร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองนำเอาความรู้กลับไปพัฒนาต่อที่บ้านเกิดใน จ.ปัตตานี เพราะชาวบ้านหลายชุมชนในปัตตานียังขาดความรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ อยู่มาก เนื่องจากไม่ค่อยอยากไปหาหมอ และไม่มีหมอมาให้ความรู้เรื่องสาธารณสุขที่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เมื่อป่วยก็จะหายารับประทานเอง จึงตั้งใจว่าหลังจากเรียนจบจะกลับไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดปัตตานีก่อนในช่วงการเป็นแพทย์ intern ปี 1 และในปีที่ 2-3 ก็จะมีสิทธิ์เลือกไปเป็นแพทย์โรงพยาบาลชุมชน จะสามารถจัดตั้งหน่วยแพทย์เพื่อลงตรวจในชุมชนบ้านเกิดใน จ.ปัตตานี รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงคือ จ.นราธิวาสได้ การได้รับโอกาสและทุนการศึกษาจากมูลนิธิฯ ทำให้คลายกังวลในเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ให้เราได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ โดยมูลนิธิฯ ได้ปลูกฝังแนวคิด Pay It  Forward - ส่งต่อการให้ เพื่อตอบแทนโอกาสที่เราได้รับมาด้วยการทำสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์คืนกลับให้สู่สังคม ซึ่งแม้จะจบการศึกษาไปแล้ว แนวคิดนั้นก็จะยังอยู่ในใจของเราตลอดไป”

การเป็นผู้รับที่ดีต้องควบคู่อยู่กับการเป็นผู้ให้ เหมือนกับที่เหล่านักเรียนทุนมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจำนวน 306 คน ตลอดระยะเวลา 17 ปีของการมอบทุนการศึกษา ได้มองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างพึ่งพาอาศัยให้ความช่วยเหลือและมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาอย่างมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมย์ของทุนมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย

Tags: มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ไฟเซอร์ หมอ นักเรียนทุน ทุนการศึกษา แพทย์