By a publicist 7 สิงหาคม 2561
หน้าฝนเป็นช่วงที่ต้องดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ เพราะโรคที่แฝงมากับสายฝนนั้นมีมากมายทั้งจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้มีความชื้นสูงถือเป็นการบ่มเพาะเชื้อโรคให้เจริญเติบโตได้ดี จึงควรดูแลใส่ใจสุขภาพของเราอย่าให้เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นดีที่สุด “ไข้เลือดออก” เป็นอีกโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากในช่วงฤดูกาลนี้ยุงลายตัวเมียเป็นพาหะตัวร้ายในการแพร่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ “เด็งกี” เพราะทันทีที่ยุงลายกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ซึ่งเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ตัวยุงและจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว พร้อมปล่อยเชื้อเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป ที่สำคัญยุงลายที่มีเชื้ออยู่ 1 ตัว ออกลูกได้ทีละ 500 ตัว ดังนั้นการแพร่กระจายเชื้อไข้เลือดออกจึงแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาย้ำเตือนถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงเนื่องจากปกติโรคไข้เลือดออกจะระบาดในช่วงฤดูฝน แต่เนื่องจากปีนี้ฝนมาเร็วทำให้อากาศร้อนชื้นจึงพบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าปกติ สถิติตั้งแต่เดือนมกราคม- พฤษภาคม 2561 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวน 13,164 ราย เสียชีวิต 19 ราย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพบว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงเกินกว่าอัตราค่าเฉลี่ยของอัตราผู้ป่วยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปีนี้น่าจะสูงถึง 75,000 ราย และยังคาดว่าจะทำให้อัตราผู้ป่วยเสียชีวิตสูงกว่าปกติอีกด้วย โดยกลุ่มเสี่ยงที่สําคัญยังคงเป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 15 – 24 ปี
แพทย์หญิงวิไลรัตน์ หล้ามาชน กุมารแพทย์คลินิกเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียวกล่าวถึงความน่ากลัวของไข้เลือดออก ว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะทำได้เพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีไข้สูงมากและปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจะใช้ยาระงับอาการ คือ พาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดและลดไข้ ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนและอ่อนเพลียจากไข้ แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย นอกจากนี้จะเป็นการรักษาตามอาการที่ป่วยและเฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออกซึ่งทำให้อาการแย่ลงไปอีก
“อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยไข้เลือดออก ให้สังเกตอาการมีไข้คล้ายกับไข้หวัดทั่วไป แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางรายอาจคลื่นไส้อาเจียน อาจพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาทิ มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีไข้สูงเกิน 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อเจาะเช็กผลเลือดและความดัน หากเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็คาดการณ์ได้ว่าจะเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรง เพราะในคนปกติจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 150,000 - 400,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และมีความเข้มข้นของเลือดอยู่ที่ 36 - 40 g/dl ฉะนั้นหากเกล็ดเลือดต่ำว่า 100,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และมีความเข้มข้นมากถึง 42 - 45 g/dl ต้องเริ่มเฝ้าระวังอาการช็อกโดยด่วน อย่างไรก็ตามแม้โรคไข้เลือดออกจะเป็นโรครุนแรง แต่โอกาสรักษาให้หายก็มีสูงเมื่อได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่แรก” แพทย์หญิงวิไลรัตน์ กล่าว
สำหรับระยะของโรคไข้เลือดออกมีทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะไม่อันตราย สังเกตได้จากการมีไข้สูงลอย 2-7 วัน แม้จะเช็ดตัวและกินยาไข้ก็ไม่ลดลง นอกจากนี้จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระบอกตา และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในบางรายอาจจะมีผื่นตามตัวได้
ระยะช็อก จะมีอาการหลังไข้ลด 1-2 วัน ทั้งนี้การช็อกของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเลือดข้น คือความเข้มข้นของเลือดสูงมาก เลือดจึงมีความหนืด ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ยาก ถ้าหากปล่อยไว้นานเกินไปอาจจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไตวาย ตับอักเสบ กินอาหารแล้วคลื่นไส้ อาเจียนตลอด หนักเข้าถึงขั้นที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่ขาดเลือดไปเลี้ยงไม่ทำงานและเสียเป็นจุดๆ จนต้องตัดทิ้ง ดังนั้นผู้ป่วยในระยะนี้ต้องเข้ารับการรักษาให้ทันท่วงทีในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอวัยวะอื่นๆ ตามมา นอกจากนี้ยังมีภาวะช็อกจากอาการเลือดออกเพราะผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกเกล็ดเลือดจะต่ำ ทำให้เลือดออกง่าย บางคนมีเลือดปนออกมาในขณะอาเจียน เมื่อเลือดออกเรื่อยๆ ก็จะเกิดอาการช็อกจากการขาดเลือด แต่บางคนอาจไม่มีอาการช็อกเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรงหรือไม่รุนแรงและการเฝ้าระวังในระยะนี้เพียงพอหรือไม่
ระยะหาย เป็นระยะสุดท้ายของไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะเริ่มอยากอาหาร ปัสสาวะบ่อย เริ่มมีผื่นคัน และชีพจรเต้นช้าลง
“ความรุนแรงของไข้เลือดออกอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยตามระยะต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแพทย์จะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนจากขั้นที่ 2 มาขั้นที่ 3 ควรจับชีพชร วัดความดันโลหิต และอาจต้องตรวจหาความเข้มข้นของเลือดโดยการเจาะเลือดตรวจฮีมาโตคริต และตรวจนับคำนวณเกล็ดเลือดเป็นระยะๆ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกเป็นโรครุนแรง แต่โอกาสรักษาให้หายก็มีสูงเมื่อได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่แรก หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50% จากการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย สมองทำงานผิดปกติหากอยู่ในระยะช็อกคุณหมอจะให้กินเกลือแร่ เพราะเมื่อเกล็ดเลือดต่ำความสามารถในการห่อหุ้มน้ำเลือดของหลอดเลือดจะลดลง ทำให้น้ำเลือดไหลซึมออกมาได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเข้มข้นของเลือดสูง เมื่อกินเกลือแร่เข้าไปจะสามารถทดแทนน้ำเลือดที่ซึมออกไปได้ แต่หากเป็นระยะที่มีความผิดปกติมาก มีอาการช็อก หรือผู้ป่วยไม่สามารถทานเกลือแร่ได้จะให้น้ำเกลือชนิดพิเศษสำหรับไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะรั่วซึมออกมาช้าลง เพื่อช่วยบรรเทาอาการ”แพทย์หญิงวิไลรัตน์ กล่าวในที่สุด
ด้านนายกรกฤต คำเรืองฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจนเนอราลี่ ประกันภัย (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำว่า โรคไข้เลือดออกปกติแล้วจะต้องนอนรักษาตัวเพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 2-3 วัน การประกันสุขภาพทั้งส่วนบุคคลและประกันสุขภาพกลุ่มที่นายจ้างทำให้ จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ค่าห้องพัก ซึ่งสัญญาการรับประกันของแต่ละบริษัทจะให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน ผู้เอาประกันภัย หรือ ผู้ป่วย ควรตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครอง ข้อกำหนด ข้อยกเว้นและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้ตกลงไว้กับบริษัทประกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เอาประกันเอง
“บางกรณีผู้เอาประกันได้มีการซื้อสัญญาเพิ่มเติม ในส่วนของการชดเชยรายได้ไว้ด้วยเมื่อเจ็บป่วย หากต้องหยุดงานอาจทำให้รายได้สูญเสียไป ซึ่งบริษัทประกันจะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงที่เจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ ส่วนจำนวนเงินชดเชยรายได้นั้นขึ้นอยู่กับผู้เอาประกันเลือก เช่น วันละ 500 ,1000 หรือ 2,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนเงินชดเชยรายได้นั้นจะมีผลต่ออัตราเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นตามที่เราเลือกอัตราชดเชยรายได้ไว้” นายกรกฤต กล่าวทิ้งท้าย