หากนวัตกรรมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม มนุษย์ทุกคนก็สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ด้วยหัวใจและมันสมอง ไม่เพียงการนำเสนอในรูปแบบเทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้น แต่ผลงานศิลปะก็เป็นนวัตกรรมเสริมสร้างความสมบูรณ์แห่งชีวิตได้เช่นกัน โดยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความดี ความจริง และความงามที่ครบทุกมิติ ดังเช่นผลงาน “ลิงที่รอดที่ชีวิต” ฝีมือของ น.ส.ศิริพร เพ็ชรเนตร อายุ 23 ปี จากกรุงเทพฯ ซึ่งถ่ายทอดแนวความคิดที่มีมานานคือการรณรงค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์แต่ผ่านการสื่อสารด้วยมุมมองใหม่ จนชนะใจกรรมการทั้งด้านฝีมือและไอเดีย คว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของการประกวด จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสิน เล่าถึงภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดในปีนี้ว่า ปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้นจำนวน 216 ชิ้น จาก 132 ศิลปิน ซึ่งผลงานโดยรวมนั้นถือว่ามีมาตรฐานมากกว่าระดับทั่วไป คือเป็นมาตรฐานทางด้านการสะท้อนมุมมอง ความคิด และวิธีนำเสนอ ทำให้พบว่าศิลปินรุ่นใหม่นั้นมีแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น แม้ภาพที่ไม่ได้รับรางวัลใหญ่เองก็ตามในบางภาพก็ถือว่าเป็นภาพที่มีแนวความคิดที่เฉียบแหลม แยบยล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง กล่าวว่า ผลงาน “ลิงที่รอดชีวิต” สะท้อนวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ในการมองปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก โดยเฉพาะเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการประชดประชันที่นำเสนอในเชิงบวก นำสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือสัตว์ป่าคุ้มครองมาใส่เสื้อผ้าแบบมนุษย์ อยู่ในสังคมของคนมีฐานะ มีเฟอร์นิเจอร์หรูหราราคาแพง ฉากหลังแม้จะเป็นธรรมชาติแต่ก็ดูคล้ายการถูกประดิษฐ์ขึ้น เปรียบเสมือนการถ่ายภาพร่วมกันของครอบครัวในคฤหาสน์หลังหนึ่ง นำเสนอไอเดียกลับด้านผ่านการวาดภาพด้วยสีอะคริลิคที่มีโทนสีคลาสสิคแบบยุคเรเนซองส์ ถือเป็นนวัตกรรมทางศิลปะที่นำเสนอแนวความคิดซึ่งมีอยู่มานานแล้วแต่ถ่ายทอดความคิดและจินตนาการซึ่งประกอบด้วยมโนทัศน์ มโนคติ มโนสำนึก ออกมาผ่านวิธีการสื่อสารใหม่ ถือเป็นการต่อยอดและสะท้อนถึงความดี ความจริง และความงามอย่างแท้จริง
อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ แสดงความคิดเห็นต่อภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ในปีนี้ว่า ผลงานรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 นั้นมีรูปแบบของการประชดประชันเปรียบเปรยได้ดี วิธีการนำเสนอออกมาในรูปแบบที่เหมือนจริง มีอารมณ์ขัน ด้วยฝีมือและวิธีถ่ายทอดทำให้ผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นจนชนะใจกรรมการ แต่หากมองอีกมุมที่ไม่ได้อิงกับคอนเซ็ปต์ของศิลปิน ผู้ชมจะสามารถจินตนาการได้ถึงเรื่องราวความน่ารักของสัตว์ ศิลปินมีอารมณ์ขันที่นำลิงสายพันธุ์ต่างๆ มาใส่เสื้อผ้า ล้อเลียนชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทำให้ผู้ชมเพลิดเพลินและเอ็นดูต่อสัตว์เหล่านี้มากขึ้น ภาพรวมผลงานปีนี้ มีมาตรฐานงานดีมาก ศิลปินรุ่นใหม่นั้นมีแนวทางแต่ละคน แต่การจะหาผู้ชนะเลิศนั้นจะต้องเป็นผลงานที่มีลักษณะพิเศษกว่าผลงานอื่นๆ ทั้งด้านแนวความคิดและสไตล์นำเสนอ ส่วนใหญ่พบว่าศิลปินจะทำตามๆ กัน คือเดาว่ากรรมการชอบแบบไหนก็จะทำแบบนั้น จึงทำให้ยากต่อการค้นพบผลงานที่แหวกแนวออกจากรูปแบบเดิม
ด้าน ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี กล่าวว่า ผลงานของศิลปินมีกระบวนการเขียน การวาดภาพที่ นำเสนอรูปร่างรูปทรงได้เสมือนจริง มีการระบายสีแสงเงา นำเสนอชิ้นงานที่ส่งผลกระทบต่อสังคม คือ ภาพลิงที่ผสมผสานกับรูปร่างมนุษย์ เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกว่าสัตว์เหล่านี้กำลังสร้างชีวิตที่คล้ายกับคน เพื่อต้องการให้ตัวเองอยู่รอดในสังคม ไม่ให้ถูกทำลาย สะท้อนสังคมปัจจุบันของสังคมที่มนุษย์กำลังเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้คนได้ฉุกคิด มีสติที่จะไตร่ตรอง พิจารณาถึงสิ่งที่ควรจะทำหรือไม่ควรทำ เป็นผลงานที่ต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงความสุขของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกับทุกชีวิต นวัตกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงเรื่องความทันสมัยอย่างเดียว แต่คือการปรับความคิดสู่ความเป็นสากลด้วย ภาพนี้จึงสะท้อนความคิดของศิลปินที่ต้องการสื่อสารให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์และสัตว์
สำหรับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 2 มีสองรางวัลได้แก่ ผลงาน “ตัวฉันกับความสุขที่หายไป” ใช้เทคนิคสีฝุ่นและสีอะคริลิค โดย นายชมรวี สุขโสม อายุ 24 ปี จาก จ.สุราษฎร์ธานี และผลงาน “ไทยงม” ใช้เทคนิคสีน้ำมันและอะคริลิค โดยนายอนันต์ยศ จันทร์นวล อายุ 24 ปีจาก จ.นครศรีธรรมราช
รางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 3 มีสามรางวัลได้แก่ ผลงาน “เหยื่อของความรุนแรง” ใช้เทคนิคสีน้ำมัน โดย นายวฤทธิ ไพศาลธิรศักดิ์ อายุ 35 ปี จาก จ.สมุทรปราการ ผลงาน “จริงหรือหลอก” ใช้เทคนิคสีน้ำมัน โดยนายผดุงพงษ์ สารุโณ อายุ 27 ปี จาก จ.สตูล ผลงาน “ซ้ายสังหาร” ใช้เทคนิคสีน้ำมัน โดยนายอานนท์ เลิศพูลผล อายุ 25 ปี จาก จ.สุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ยังมีรางวัลดีเด่น อีกจำนวน 10 รางวัล ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับรางวัลได้ทาง http://www.panasonic.com/th โดยจะจัดพิธีมอบรางวัลพร้อมงานแสดงนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-29 สิงหาคม 2561 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 081 075 5195