“รู้นะแต่มันทำไม่ได้” นี่คงเป็นเหตุผลหลักของสูบบุหรี่ ทั้งที่ทราบถึงภัยร้ายของบุหรี่ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างอย่างมาก พิษร้ายของบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายมากมาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น หลายคนอาจ “คิด” และ “พยายาม” ที่จะเลิกหลายต่อหลายครั้ง สรรหาวิธีต่างๆ มาใช้ เช่น เลิกซื้อ....แต่ก็ยังขอเพื่อน เลิกสูบในบ้านแต่ออกมาสูบนอกบ้านแทน เป็นต้น
นายแพทย์ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า การเดินทางของสารนิโคตินจากบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น!!! บุหรี่ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการคลายเครียด เพราะผู้สูบจะรู้สึกผ่อนคลายได้ในทันทีที่สูบ แต่นั่นเป็นเพียงผลระยะสั้น เมื่อระดับนิโคตินลดลงอารมณ์ที่เคยดี ผ่อนคลายก็จะหายไปด้วย จึงต้องสูบอีกเรื่อยๆ เพื่อความสบายใจจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2557 พบว่าในจํานวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 54.8 ล้านคน มีผู้ที่สูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคนหรือร้อยละ 20.7 โดยสูบเป็นประจํา 10 ล้านคน และสูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ทั้งนี้มีการประเมินว่าผู้สูบบุหรี่เหล่านี้จำนวนถึง 1 ใน 4 จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด ทำให้ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากถึง 42,000-52,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคที่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ เช่นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง และโดยเฉพาะโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 4 เท่า เพราะสารเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเส้นเลือดที่นำไปสู่การเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบคือเกิดเส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา เกร็ดเลือดจับตัวเส้นเลือดหัวใจหดตัว หัวใจเต้นไม่ปกติ ผลคือ ทำให้เลือดเลี้ยงหัวใจ ไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ นอกจากนี้หากเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเสี้ยงสมอง ก็จะทำให้สมองขาดออกซิเจนเช่นกันเป็นผลให้สมองเสื่อมสภาพ นำไปสู่การเป็นอัมพฤต อัมพาตได้ในที่สุด ผลร้ายของบุหรี่น่ากลัวขนาดนี้แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ถามใจตัวเองว่าจะ “เลิก” หรือ “สูบ” ต่อไปดี
หากมองเห็นจุดจบของการสูบบุหรี่รออยู่ข้างหน้าแล้ว ไม่อยากเสี่ยง สามารถเลี่ยงได้ง่ายๆ เพียงแค่เลิกแล้วหันมาดูแลตัวเอง ซึ่งวิธีเลิกบุหรี่ก็สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
-วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง โดยการหยุดสูบบุหรี่ทันที วิธีนี้อาจจะง่ายที่สุด แต่จากสถิติพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักจะเกิดอาการขาดนิโคตินจนต้องกลับไปสูบอีกในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์
-การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน หลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาล
-การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำในรูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน และยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยาเนื่องจากขาดนิโคติน
-การฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่และคลายความหงุดหงิด
นายแพทย์ประธาน กล่าวแนะนำต่ออีกว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีใดควรทำควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองโรคที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาเป็นเวลานานเพื่อให้รู้ตัวเองก่อนว่าเป็นโรคร้ายอย่างโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอดหรือไม่ จะได้รักษาได้ทันท่วงที“และที่สำคัญที่สุด คือความตั้งใจ มุ่งมั่นของผู้ที่ต้องการเลิกอย่างแท้จริง หาแรงบันดาลใจที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อครอบครัว เพื่อลูก เพื่อคนที่เรารัก ขณะเดียวกันยาที่วิเศษที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด คือ กำลังใจจากคนใกล้ชิดและครอบครัวนั่นเอง และเมื่อเลิกบุหรี่แล้วนอกจากจะไม่เสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ ยังช่วยให้สุขภาพดีขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตที่สูงจากการสูบบุหรี่จะกลับมาปกติ ความรู้สึกรู้รสและกลิ่นจะกลับคืนมา หายใจคล่องขึ้นเพราะหลอดลมได้หยุดพักหลังจากทำงานมานาน เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงแขนและขาได้ดีทำให้ออกกำลังกายได้เต็มที่ขึ้น อาการไอลดลง ฯลฯ เลิกไม่ยากแถมข้อดีมีเยอะขนาดนี้ ตัดสินใจเลิกบุหรี่ตั้งแต่วันนี้กันเถอะ”
อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนที่คิดจะเลิกบุหรี่แต่กลัวโรคนี่ นั่น จะตามมาภายหลังจากที่เลิก จึงคิดวางแผนจะทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพไว้พร้อมกับมีคำถามตามว่ามาจะสามารถทำประกันดังกล่าว ได้หรือไม่ นายกรกฤต คำเรืองฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจนเนอราลี่ ประกันภัย (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า หลักเกณฑ์ของการทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตคือให้ความคุ้มครองโรคที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำประกัน ดังนั้นเมื่อคิดที่จะทำประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพใดๆก็ตามสิ่งสำคัญควรแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ทำประกันในแบบคำขอเอาประกันชีวิตตามความจริงทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการรักษาพยาบาลและข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะการปกปิดในสาระสำคัญเหล่านี้จะเป็นผลต่อการพิจารณารับทำประกันของท่านหรือไม่นั่นเอง หรือหากบริษัทประกันชีวิตสามารถตรวจได้ในภายหลังจากการทำประกันไปแล้ว อาจจะเป็นเงื่อนไขไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุในสัญญากรมธรรม์ก็เป็นไปได้
“สิ่งสำคัญที่สุดของการทำประกันชีวิต คือต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตเพราะอะไร เช่น เอาไว้ให้คนข้างหลัง คือ พ่อแม่ ครอบครัวที่สำคัญ ควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันเพราะรูปแบบของการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพมีหลากหลายรูปแบบลองศึกษาและเลือกแบบความคุ้มครองที่เหมาะกับตัวเองเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เอาประกันภัยเอง” นายกรกฤต กล่าว