มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยลงพื้นที่รณรงค์ชาวอุบลฯ ให้รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข เตรียมพร้อมประชากรตั้งแต่ 45+ รับมือสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ


มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย สานต่อโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” (Pfizer Healthy Aging Society) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ลงพื้นที่ .อุบลราชธานี ระดมนักวิชาการและนักปฏิบัติการด้านสุขภาพระดับประเทศ ร่วมให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อนำไปสู่กายฟิต-จิตดี-มีออม

ภญ.ศิริวรรณ  ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขและคุณภาพชีวิต ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อม จะรอให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งผู้สูงวัยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากไม่มีการเตรียมพร้อมสู่สูงวัยล่วงหน้า โดยความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสู่สูงวัยนั้น สะท้อนให้เห็นได้จากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) แต่จากการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฉบับนี้ ซึ่งประเมินโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่าประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ กล่าวคือการดำเนินการสัมฤทธิ์ผลไปได้เพียงร้อยละ 28.6 เท่านั้น

 

“มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกช่วงวัยของชีวิต และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมการเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จึงได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ดำเนินโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” (Pfizer Healthy Aging Society) รณรงค์เตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงอายุ ที่เน้นการทำงานแบบต่อเนื่อง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ (Good Health and Well-Being) โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจเชิงสุขภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคือประชากรกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ ให้เป็นผู้นำและบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นพฤติกรรมสุขภาพเชิงบวก สร้างรูปแบบการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน และสามารถประยุกต์และปรับใช้กับบริบทของสังคมไทยได้

ภาพรวมของการดำเนินโครงการ จะเชื่อมโยงการทำงานทั้งระดับประเทศและชุมชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุข ประชากรก่อนวัยสูงอายุ และวัยสูงอายุ ในด้านความรู้เรื่องสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การรณรงค์ (Promotional Campaigns) การสร้างความตระหนักในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพดี และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและวิถีชีวิต รวมทั้งการติดตามประเมินผลโครงการและการถอดบทเรียนไปใช้”

ด้าน อาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปรึกษาโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินงานในระยะแรกสำเร็จไปแล้ว จากความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยสามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 

“การที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่มีคุณภาพได้นั้น จะต้องไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ประชากรของประเทศควรได้รับการเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนสูงวัย (Pre-senior) หรือตั้งแต่อายุ 45 ขึ้นไป ให้มีความพร้อมตั้งแต่ด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ แต่จากการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรก่อนสูงอายุ ของกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานครในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค NCDs เพราะร้อยละ 86 ชอบเนื้อติดมันและเครื่องใน ร้อยละ 51 ติดเครื่องดื่มรสหวาน ในขณะที่ร้อยละ 74 ขาดความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 52 ขาดความรู้เรื่องโรคหัวใจ และมีร้อยละ 30 ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว เป็นต้น จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ตระหนักได้ว่าความรู้เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกคนเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จึงออกแบบโครงการให้เป็น Knowledge-based project สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่อายุระหว่าง 45-59 ปี 

 

สำหรับพื้นที่ดำเนินงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตยและบางขุนเทียน) และจ.อุบลราชธานี (อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ) โดยเริ่มจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนลงมือเตรียมความพร้อมโดยการสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชากรก่อนวัยสูงอายุ เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior) ด้วยการให้ความรู้ด้านสุขภาพ สร้างพันธมิตร ด้วยการเชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการบรรลุเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขและโรงเรียน สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ และพัฒนาแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ หรือกายฟิต-จิตดี-มีออม”

นางสุภาพร มหาพลตระกูล ผู้จัดการโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข จากสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า การจัดกิจกรรม อบรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข ที่ จ.อุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญ โดยมีกลุ่ม Change Agents ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาเข้าร่วมอบรมกว่า 120 คน อาทิ บุคลากรด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรด้านการศึกษาที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานพัฒนาชุมชน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน และมีอิทธิพลทางความคิดต่อชุมชน ผู้เข้าอบรมทั้งหมดได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสุขภาพองค์รวมและสุขภาพทางการเงิน เพื่อสร้างเสริมทัศนคติและปรับพฤติกรรมสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพร้อมที่จะสูงวัยอย่างอยู่ดีมีสุข โดยคาดหวังให้เกิดการส่งผ่านความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปสู่ชุมชนของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างอย่างมีคุณภาพ

 

“กิจกรรมในครั้งนี้ มีนักวิชาการและนักปฏิบัติการด้านสุขภาพระดับประเทศในแต่ละสาขา มาร่วมถ่ายทอดความรู้สู่กลุ่มจิตอาสาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี, เทศบาลนครอุบลราชธานี, โรงพยาบาลสาธารณสุขตำบลเพียเภ้า, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ, โรงพยาบาลวารินชำราบ และโรงเรียนปทุมพิทยาคม เป็นต้น

สำหรับหัวข้อการอบรม ประกอบด้วยเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับการใสใจและพฤติกรรมที่ดี สำหรับกายฟิต-จิตดี-   มีออม อาทิ “การเข้าใจและรู้จักแนวคิด รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข และเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยอาจารย์ศิริวรรณ   อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  “บ้านที่แสนรัก” โดย ผศ.พท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พระมงกุฎเกล้า “เรื่องกิน เรื่องใหญ่” “กินอยู่อย่างไร ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” และ “การประเมินสัดส่วนร่างกายและแปลผล” โดย รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล รักษาการแทนหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ กลุ่มวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี “โรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ” โดย พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี “ใจสบาย กายเป็นสุข และ ยากันลืม”  โดย พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี “สุขภาพช่องปาก” โดย ทพญ.นันทนา  ศรีอุดมพร ผู้เชี่ยวชาญงานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี “การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย” โดย นางสาวจุฑารัตน์ ภัทรเกษวิทย์ และนายกฤษณะ นิลสาย นักวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ “ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน” โดย นางสาวสุวิภา ฉลาดคิด ที่ปรึกษาสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เป็นต้น”