รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข โครงการเพื่อเตรียมคนไทยสูงวัยแบบกายฟิต-จิตดี-มีออม


นับจากนี้เป็นต้นไป การให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยจะไม่ใช่เพียงแค่ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ หรือ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีอีกแล้ว เพราะข้อมูลจากงานเสวนา "สังคมผู้สูงวัย ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัย แต่คือความท้าทายของสังคมไทยในอาเซียน"  ซึ่งจัดขึ้นในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” ที่มีผู้ร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐ องค์กรพัฒนา และเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนคิดเห็นนั้น พบว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรกลุ่มสูงวัยคิดเป็นร้อยละ14.9 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานล่าสุดพบว่าในอีก 34 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2593 / ค.ศ. 2050) ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทย เนื่องจากไทยจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน อัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต และเป็นสังคมผู้สูงวัยนั่นเอง ดังนั้น หากเราปล่อยให้สังคมผู้สูงอายุของเราเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงเพราะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประเทศไทยในอนาคตก็จะยิ่งมีปัญหารุนแรงในหลายมิติมากขึ้นไปอีก

นางวิมล บ้านพวน รองผู้อำนวยการ สำนักอนามัยผู้สูงวัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงวัยว่า “ปัจจุบัน ร้อยละ 95 ของผู้สูงวัยไทย เจ็บป่วยด้วยโรคและมีปัญหาสุขภาพ พบ 1 ใน 2 คน อ้วน และเป็นโรคอ้วน โดยทุกๆ 8 คน จะพบเป็นโรคสมองเสื่อม 1 คน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมไปถึงการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงวัย ส่งเสริมด้านสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต”   

อาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้สูงวัยในระดับอาเซียนว่า ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ โดยความท้าทายของประเทศไทยนั้น คือปัญหาเรื่องสุขภาพที่ควบคู่มากับความสูงวัย โดยทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันขบคิดและลงมือทำว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมได้ และห่างไกลจากโรค ซึ่งภัยคุกคามด้านสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงวัยไทยและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตปัจจุบันนี้ คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) หรือ NCDs อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตและการไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงก่อนก้าวสู่วัยสูงอายุ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพของผู้สูงวัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบในอีกหลายมิติ ทั้งการงาน เงินทอง ครอบครัว ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ฯลฯ

ภญ.ศิริวรรณ  ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย   กล่าวว่า จากการคาดการณ์ว่าอีก 15 ปี ประเทศไทยจะมีอัตราผู้สูงวัยมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพที่พบว่าผู้สูงวัยไทยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรค NCDs จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย  และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในการริเริ่มดำเนิน โครงการ ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข (Pfizer Healthy Aging Society) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพตั้งแต่วัยก่อนสูงวัยจนถึงวัยสูงวัย คือตั้งแต่อายุระหว่าง 45-59 ปี เพื่อสร้างรูปแบบสังคมการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย แบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน  เพื่อที่เราจะมีผู้สูงวัยยุคใหม่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้าน Phisically, Mentally และ Financial  หรือเรียกง่ายๆว่า  กายฟิต-จิตดี-มีออม พร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนับเป็นโครงการแรกที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุ”

ด้าน นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “จากการดำเนินงานโดยทีมสาธารณสุขคีนันตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา พบข้อมูลสำคัญว่าการจะช่วยให้คนไทยสูงวัยอย่างมีคุณภาพชีวิตนั้น หากรอให้ถึงวัยเกษียณอาจสายเกินไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้แก่กลุ่มก่อนสูงวัย เพื่อสร้างศักยภาพและการวางแผนทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจให้พร้อมก่อนถึงวัยเกษียณ และจากการเก็บข้อมูลกับกลุ่มก่อนสูงวัย (Pre-Seniors) ในเขตบางขุนเทียนและเขตคลองเตย กรุงเทพฯ พบว่าแม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะเริ่มตระหนักถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ยังขาดการเตรียมพร้อมในทุกด้าน ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ มากกว่าร้อยละ 50 เริ่มมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินออมที่เพียงพอสำหรับการใช้ในวัยเกษียณ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมศักยภาพและให้ความรู้ด้านสุขภาพและการวางแผนรับมือวัยเกษียณแก่คนเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาสังคม

โครงการ ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข (Pfizer Healthy Aging Society) ถูกออกแบบให้เป็น Knowledge-based project มีการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายก่อนลงมือเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (สิงหาคม 2559 - สิงหาคม 2562) พื้นที่การดำเนินงานได้แก่ กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตยและบางขุนเทียน) ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว และจะเริ่มขยายขอบเขตการดำเนินโครงการไปยังจังหวัดอุบลราชธานี (อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ) ในช่วงสิงหาคมปีนี้ เป้าหมายหลักของโครงการคือ การสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชากรวัยก่อนวัยสูงอายุ และวัยสูงอายุ เพื่อนำไปสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน สามารถประยุกต์และปรับใช้ได้กับบริบทของสังคมไทยได้จริง โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกที่รณรงค์เตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงวัย

“มูลนิธิฯ คาดหวังว่าโครงการนี้ จะมีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมสู่คุณภาพชีวิตผู้สูงวัย สร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ และจะสามารถสร้างต้นแบบ ของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างแต่ละภาคส่วน ที่มีประสิทธิภาพ  เป็นไปได้  เหมาะกับบริบทของไทย  สามารถนำไปขยายผลได้ไม่รู้จบ เพื่อนำไปสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และเกิดเป็นสังคมผู้สูงวัยที่ กายฟิต-จิตดี-มีออม ในที่สุดภ.ญ.ศิริวรรณ กล่าวโดยสรุป

Tags: Pfizer Thailand Foundation aging society มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย สังคมสูงอายุ