วัยจิ๋ว เรียนรู้เทคนิคการใช้คำไทยให้ถูกต้อง


คำทุกคำ ประโยคทุกประโยคที่เราใช้ในการสื่อสารกันอยู่ในทุกวันนี้ เกิดจากการผสมผสาน ปรุงแต่งจากสิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า พยัญชนะไทยจนกลายเป็นคำ ประโยค กลอน กวี ที่มีความงดงามของภาษา สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป เน้นการสื่อสารที่รวดเร็วผ่านทางโลกออนไลน์ทำให้การใช้คำและรูปประโยคผิดเพี้ยนไปจากหลักไวยากรณ์ที่ถูกต้อง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดการสูญเสียคำไทยที่สำคัญไปอย่างถาวร

ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้นำเทคนิคและการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง มาให้เยาวชนได้ร่วมเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ธัญญาพาร์ค ท่องแดนสัตว์มหัศจรรย์ในพยัญชนะไทย โดยนำสัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่ในพยัญชนะไทยมาจัดแสดงพร้อมสอดแทรกเนื้อหาให้น้องๆ ร่วมสนุกและเรียนรู้

นางสุนันทา สมบุญธรรม ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารของคนทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะเยาวชน ส่งผลให้การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารมีความผิดเพี้ยนไปจากในอดีต คนพูดคุยกันน้อยลงและใช้การพิมพ์ข้อความเข้ามาแทนที่ นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาที่ผิดแปลกไปจากภาษาไทยปกติ เพื่อให้ง่าย สะดวก รวดเร็วต่อการสื่อสาร ซึ่งหากปล่อยไปนานวันก็จะส่งผลให้ภาษาไทยของเราเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นศูนย์การค้าฯ จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่เมืองไทยไปยาวนาน ตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

"น้องปอง ปอง" ..กรมณี เทศสวัสดิ์  อายุ 6 ปี  เล่าว่า “กิจกรรมครั้งนี้ให้ทั้งความสนุก และให้ความรู้ต่างๆ มากมาย โดยโซนกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ “ก.ไก่” เพราะภายในงานได้มีการนำไก่ตัวจริงมาให้ได้สัมผัสและเรียนรู้ไก่สายพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่เคยได้เห็นมากก่อน อย่าง ไก่ซิลกี้ (Silkie Chicken) ที่มีขนหน้าฟูสีขาวคล้ายขนสุนัข คอยาว บริเวณลำคอไม่มีขน และอีกมากมาย อาทิ ไก่มินิโคชิน (Mini Cochin) ไก่โพลิช โปแลนด์ขนกลับ(Polish Frizzle Chicken) ไก่โชว์เกิร์ล (Showgirl Silkie Chicken) เป็นต้น  และในโซนนี้ยังได้เรียนรู้คำ และความหมายของคำในภาษาไทยที่สะกดด้วยตัวพยัญชนะ ก.ไก่ ซึ่งในปัจจุบันเด็กหลายคนมักลืม และสะกดผิด อาทิ คำว่า “กบาล” หมายถึงศีรษะหรือหัว หลายคนมักเขียนผิดเป็น กะบาน กระบาน หรือคำว่า “กลัว” หมายถึงการไม่อยากพบเจอสิ่งที่ไม่ดี แต่ปัจจุบันนิยมเขียนเป็น “กัว” เป็นต้น

ด้าน "น้องเอมี่" ..กรปภาพัชร์ เหลืองอรามกุล อายุ 7 ปี เล่าว่า “โซนที่ชอบมากที่สุดคือ โซน น.หนู เพราะได้พบเจอกับหนูสายพันธุ์ต่างๆ เช่น หนูแฮมสเตอร์ หนูไมค์ หนูแก๊สบี้ เป็นต้น นอกจากนี้ในโซนดังกล่าว ยังได้สอนถึงการเลี้ยงหนู พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่อง คำอุปมา อุปไมย หรือ “คำเปรียบเปรย” จากพยัญชนะ น.หนู เช่น นอนกินบ้านกินเมือง เปรียบถึงคนที่นอนตื่นสายด้วยความเกียจคร้าน หรือ น้ำตาเป็นเผาเต่า เปรียบถึงคนที่ร้องไห้น้ำตาไหลพราก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันคำเปรียบเปรยเหล่านี้มักไม่ค่อยมีคนนำมาใช้มากนัก ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคำที่สละสลวย และมีเสน่ห์ สื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

ส่วน "น้องเฟรม" ..ภานุพัทรย์ พงษ์พากเพียร อายุ 9 ปี เล่าถึงโซนที่ชอบว่า “ชอบโซน ค. ควายมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มาใกล้ชิดกับควายจริง ซึ่งทำให้เห็นว่านอกจากตัวจะใหญ่โตแล้ว แถมยังแสนรู้อีกต่างหาก และได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของควายไทย ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์คู่บุญของชาวนาไทย ในด้านการเป็นผู้ช่วยไถนาสมัยก่อน นอกจากนี้ในโซน ค.ควาย ยังได้สอนให้ฝึกอ่าน คำควบกล้ำ ที่หมายถึง คำที่มีพยัญชนะสองตัวเขียนเรียงกันอยู่ต้นพยางค์ และใช้สระเดียวกัน เวลาอ่านออกเสียงกล้ำเป็นพยางค์เดียวกัน เสียงวรรณยุกต์ของพยางค์นั้นจะผันเป็นไปตามเสียงพยัญชนะตัวหน้า โดยในปัจจุบันเด็กหลายคนมักอ่านออกเสียงผิดเสมอ จึงทำให้ความหมายของคำนั้นเปลี่ยนไปทันที อย่างคำว่า เคลื่อน คลี่คลาย คลอง คลาน ความ คว่ำ เป็นต้น 

สำหรับน้องๆ คนไหนที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ก็สามารถนำเทคนิคการเรียนรู้ภาษาไทยจากเพื่อนๆ ไปปรับใช้ได้ และอย่าลืมศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของคนไทย ที่สืบทอดกันมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรช่วยกันอนุรักษ์ให้อยู่คู่คนไทยสื่อต่อไปยังคนรุ่นหลัง