มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ เดินหน้าดำเนินโครงการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะชีวิตที่จำเป็นของเยาวชนในจังหวัดสตูลอย่างต่อเนื่อง โดยค่ายพัฒนาทักษะชีวิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ “เรียน เล่น เห็นชีวิต” ชูเนื้อหาหลักในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิตให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวและเทคโนโลยี หวังสร้างพัฒนาการให้เยาวชนอย่างต่อเนื่องให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน
น.ส.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญและสนใจงานพัฒนาเด็กในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดสตูล หลังจากการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จนปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเดินหน้าในการสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยให้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะชีวิตที่จำเป็นของเด็ก (Reading and Essential Life Skill Development Project) ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในปี 2560
“จากข้อมูลของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยที่ได้ศึกษาประชากรในพื้นที่จังหวัดสตูล พบว่าปัญหาหลักของเด็กช่วงอายุ 6-12 ปี คือการขาดทักษะการอ่านภาษาไทยได้เหมาะสมตามช่วงวัย โดยเฉพาะในส่วนของการคิดวิเคราะห์ การสรุปใจความสำคัญ รวมไปถึงขาดการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นในเรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การจัดการอารมณ์ตนเอง การสร้างความสัมพันธ์และการรับผิดชอบต่อสังคม โครงการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับเด็กนี้ จึงมุ่งหวังให้เกิดการเสริมสร้างให้เด็กมีการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นตามช่วงวัย มีความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น สามารถคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังต้องการให้เด็กนำทักษะความรู้ ที่ได้ฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดไตร่ตรอง และคิดหาเหตุผล รู้จักแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาไทยให้ดีขึ้น สามารถอ่านภาษาไทยได้ถูกต้องและเหมาะสมตามช่วงวัย” น.ส.ศิริวรรณ กล่าว
สำหรับกิจกรรมค่ายพัฒนาทักษะชีวิต ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ “เรียน เล่น เห็นชีวิต” ครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นที่ไร่ปรีดาโฮมสเตย์ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยมีเยาวชนจังหวัดสตูลจากโรงเรียนบ้านตูแตหรำและโรงเรียนบ้านปิใหญ่ ระดับชั้น ป.4-ป.6 รวม 98 คนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งใช้เนื้อหาการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นแกนหลักของการออกแบบกิจกรรมทั้ง 8 ฐาน เน้นการพัฒนาความสามารถในการใช้สติสำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การหยุดใช้เวลาในโลกออนไลน์สักช่วงหนึ่งเพื่อมาสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีกับเพื่อนๆ ในชุมชน การใช้วิจารณญาณในการพิจารณาสิ่งเร้าที่เข้ามาในชีวิต หรือการเสริมสร้างความอดทนอดกลั้น เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญวิทยากรพิเศษมาร่วมให้ความรู้และเปิดโลกทัศน์ให้กับเยาวชนในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ ครูชีวัน วิสาสะ นักสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กและนักเล่านิทาน ที่ใช้กิจกรรม “นิทานสานความคิด” ปลูกฝังอุปนิสัยรักการอ่านให้เด็ก พร้อมทั้งมอบแง่คิดการใช้ชีวิตผ่านหนังสือนิทาน และ ณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด ผู้ประกาศข่าวจาก ช่อง 7 สี ที่นำประสบการณ์มาแบ่งปันเทคนิคการสื่อสารด้วยการพูดเชิงสร้างสรรค์กับกิจกรรม “เล่นเพลิน เชิญฟัง” โดยชวนเด็กๆ ออกมาเป็นนักข่าวจิ๋วรายงานข่าวให้เพื่อนฟัง พร้อมให้คำแนะนำวิธีที่เหมาะสมและถูกต้องเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริงต่อไป
ด.ญ.สุฐิตา ทุมมาลี หรือ "น้องนา" ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านตูแตหรำ เล่าว่า “มาเข้าร่วมค่ายพัฒนาทักษะชีวิตเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ละครั้งที่มากิจกรรมจะแตกต่างกันไป โดยแต่ละครั้งจะมีกิจกรรมที่ช่วยให้ฝึกเรื่องของการอ่าน และการใช้ทักษะชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งค่อนข้างชอบในหลายกิจกรรม ส่วนตัวเป็นคนรักการอ่านหนังสืออยู่แล้ว มีหนังสือในดวงใจคือแฮร์รี่ พอร์ตเตอร์ ทำให้เวลาเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายที่เกี่ยวกับการอ่านจะชอบมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังทำให้เราซึ่งมีปัญหาเรื่องการใช้คำควบกล้ำ ร.เรือ ล.ลิง ได้พัฒนาตนเองด้วย ส่วนกิจกรรมที่เน้นการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น และยังได้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างโรงเรียนอีกด้วย หลังจากมาเข้าค่ายแล้วเราก็จะกลับไปถ่ายทอดประสบการณ์ในค่ายให้ครอบครัวและรุ่นน้องที่โรงเรียนฟัง หรือแม้แต่เพลงที่ถูกสอนจากในค่ายก็จะเอาไปสอนน้องๆ ที่ไม่ได้มาเข้าค่ายให้ได้รู้จักเพลงต่างๆ นี้ต่อไป”
ด้าน ด.ญ.วนิดา เทพสันติ ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านปิใหญ่ มาเข้าค่ายกับมูลนิธิฯ เป็นครั้งที่ 4 เช่นกัน เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากค่ายนี้ว่า "ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากการมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน คือทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างโรงเรียน ภาวะการเป็นผู้นำ การพัฒนาทางด้านการอ่าน สำหรับการมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ฐานที่ชอบมากที่สุดคือขนน้ำดับไฟ เพราะได้เห็นถึงความสามัคคีระหว่างเพื่อนในกลุ่มที่ช่วยกันขนน้ำในรูปแบบต่างๆ แต่ฐานที่กลัวที่สุดคือข้ามน้ำข้ามเลเพราะกลัวจะตกลงไปในบ่อน้ำ ซึ่งความประทับใจเหล่านี้ทำให้อยากกลับมาร่วมกิจกรรมอีกแม้ว่าจะเรียนจบ ป.6 แล้วก็ตาม”
ด้าน ด.ช. ไชยวัฒน์ นวลจันทร์ หรือ “น้องเจมส์” ชั้น ป.5 จากโรงเรียนบ้านตูแตหรำ เล่าว่า “เข้าร่วมค่ายพัฒนาทักษะชีวิต 2 ครั้งแล้ว รู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนาทักษะหลายด้าน ทั้งการอ่านหนังสือและการเรียนหนังสือ โดยสังเกตได้จากผลการเรียนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ค่ายยังสอนให้เราได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการทำอาหาร และการช่วยเหลือตัวเองในเรื่องต่างๆ รวมถึงได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ชอบช่วงที่ได้อ่านนิทานกับครูชีวัน เพราะนอกจากความสนุกที่ได้รับจากเนื้อเรื่องแล้ว ครูยังสอนให้เรียนรู้เทคนิคการอ่านหนังสือให้สนุกมากขึ้นอีกด้วย ส่วนฐานกิจกรรม นั้นชอบฐานเมืองลับแล ที่จะถูกผ้ามาปิดตาแล้วให้เดินตามกันเป็นขบวน โดยพี่ๆ จะพยายามพูดในเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกกลัว เช่น ให้เราก้มเพราะข้างหน้าเป็นรังมดแดงหรือให้เราหลบบ่อคางคก เป็นต้น เมื่อเปิดตามาก็เป็นเพียงที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรทั้งสิ้น ฐานนี้สอนให้เรารู้ว่าเราอย่ากลัวในสิ่งที่เราไม่เห็นกับตา เพราะนั่นเป็นเพียงจินตนาการที่เราคิดไปเองทั้งนั้น”
ค่ายพัฒนาทักษะชีวิต “เรียน เล่น เห็นชีวิต” ในครั้งนี้ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตเติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ และนำความรู้ที่ได้รับเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียนหนังสือ จนเกิดผลที่ดีต่อตัวเองและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต