เป็นเวลา 17 ปีแล้วของการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต” โดยในแต่ละปีเราจะมีโอกาสได้เห็นผลงานของศิลปินรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ที่ถ่ายทอดแนวความคิดที่หลากหลายผ่านผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยที่มีเนื้อหาหมุนเวียนกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สังคม หรือสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น แต่ในระยะหลังมานี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการประกวดคือเทคนิคใหม่ๆ ที่ศิลปินบรรจงถ่ายทอด ประกอบเป็นรูปเป็นร่าง และเป็นตัวแทนของความรู้สึกนึกคิดเพื่อถ่ายทอดออกมาสู่ผู้ชมผลงาน บางชิ้นงานแฝงความหมายไว้เพื่อให้เกิดการตีความไปได้อย่างหลากหลาย บางชิ้นงานสะท้อนอารมณ์ของศิลปินมาอย่างชัดเจน หรือบางชิ้นก็สะท้อนสภาพสังคมที่อยู่แวดล้อมตัวศิลปินได้เป็นอย่างดี
"สุนทรีย์จากมิติโครงสร้างของพื้นที่" เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 โดย นายวีระพงศ์ แสนสมพร ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ด้วยวัยเพียง 26 ปี จาก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกจับตามองและเป็นที่กล่าวขวัญทางด้านเทคนิคที่นำมาใช้ และถือเป็นการสร้างมิติความแปลกใหม่ให้กับวงการศิลปะเมืองไทย โดยตัวศิลปินเองเริ่มต้นจากผลงานด้านสีน้ำมัน แต่เมื่อผ่านการทดลองทำชิ้นงานในหลายรูปแบบแล้วพบว่าเทคนิคที่แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดคือการผสมผสานวัสดุต่างๆ ซึ่งสามารถสะท้อนแนวความคิดของตัวเองออกมาได้เป็นอย่างดี
“สำหรับผลงานชิ้นนี้ เป็น 1 ในซีรี่ส์ซึ่งมีอยู่ 20 กว่าชิ้น ที่เป็นความสุนทรีย์ทางอารมณ์เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์กันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยมีแกนหลักทางความคิดคือเรื่องโครงสร้างของพื้นที่ เน้นที่ลายเส้นอันเกิดจากธรรมชาติสร้างขึ้นและมนุษย์สร้างขึ้น ทุกอย่างมีส่วนสัมพันธ์กัน จึงมีทั้งเส้นลวด หวาย กิ่งไม้ นำมาสานถักทอ แล้วใช้สีน้ำมันและสีพ่นเคลือบรถยนต์ถ่ายทอดอารมณ์ สะท้อนให้เห็นถึงเมืองที่วุ่นวายซับซ้อน โทนสีที่ใช้จึงดูคลุมเครือไม่ชัดเจน ส่วนตัวรู้สึกว่าสังคมที่เราอยู่กันทุกวันนี้ มนุษย์กำลังพยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น กำลังเติบโตไปทุกวันแต่เราหลงลืมกันไปแล้วว่าสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับเราที่สุดคือธรรมชาติ หากโลกของเราถูกทับถมด้วยความเจริญไปเรื่อยๆ โลกของเราอาจจะเหลือเพียงโครงสร้างที่เป็นเหล็ก มีแค่ความแข็งกร้าว ไม่เหลือร่องรอยของธรรมชาติให้ซึมซับความสุขทางจิตใจเลยก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน ก็ต้องการนำเสนอความหมายในรูปแบบปลายเปิด เพื่อให้ผู้ชมเกิดการตีความไปได้หลากหลายรูปแบบ บางคนก็มองว่าเป็นผ้าก๊อตขนาดใหญ่ บางคนมองเห็นเป็นคลื่นน้ำหรือกำแพงที่เกิดสนิมเกาะกิน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ได้จินตนาการไปในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเวลาที่ใช้ผลิตผลงานนั้นประมาณ 2 เดือน โดยให้ความสำคัญกับการขึ้นโครงสร้างที่ลวดเส้นแรกมากที่สุดเพราะจะเป็นโครงสร้างหลักที่จะนำลวดเส้นอื่นๆ หรือวัสดุอื่นๆ มาผสมผสานต่อไปได้”
นายไทรเติ้ล เงาะอาศัย ส่งผลงาน “มนุษย์เมือง 2015” เข้ามาคว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 จากเวทีพานาโซนิคไปครอบครอง ซึ่งถือว่าศิลปินหนุ่มผู้นี้เป็นขาประจำของการประกวดมาแล้วถึง 7 ปี ยิ่งไปกว่านั้นเขายังเป็นไอดอลทางด้านความเพียรพยายามของ “วีระพงศ์” อีกด้วย โดย “ไทรเติ้ล” นั้นมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนสำหรับการสื่อสารถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมแต่ละยุคสมัยผ่านเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ยกเว้นในช่วงปี 2552-2553 ที่นำเสนองานทางด้านการเมือง
“ผลงานมนุษย์เมือง 2015 นี้ ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนกาญจนบุรีเข้ามาทำงานอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ มีโอกาสมองเห็นสภาพสังคมที่แวดล้อมอยู่ จึงต้องการสะท้อนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองแล้วต้องติดอยู่กับกรอบของสังคม เวลา หน้าที่การงาน ที่อยู่อาศัย เปรียบเสมือนการอยู่ในกล่อง สภาพของสังคมและเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ขาดความมั่นคงในชีวิต กลายเป็นคนเร่งรีบที่ขาดความสุข ใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน อยู่กับความเชื่อที่ล้วนแต่เป็นเพียงมายาคติ
ทั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาความสมบูรณ์เพิ่มเติมให้กับชีวิตตนเอง โดยนำเสนอในลักษณะภาพเนกาตีฟ ทำให้ลักษณะสีของภาพที่นำเสนอมานั้นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และจากประสบการณ์ที่ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายปี ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านฝีมือและแนวความคิด ซึ่งหากมองกลับไปถึงผลงานแรกๆ จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน”
นอกจากศิลปินหนุ่มที่มาแรงในปีนี้แล้ว เวทีการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิคก็ยังมีศิลปินสาวที่ได้รับรางวัลดีเด่น มีฝืมือที่น่าจับตาไม่แพ้กันและสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลในอนาคต อย่าง น.ส.นอเดียนา บีฮิง สาวน้อยวัย 23 ปี จาก อ.เบตง จ.ยะลา กับผลงาน “ร่องรอยสถาปัตยกรรม หมายเลข 6” ถ่ายทอดถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น อาคารบ้านเรือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะสูญสลายไปพร้อมกับการเข้ามาแทนที่ของบ้านที่ทำจากปูนและวัสดุสมัยใหม่
“บ้านเก่าเหล่านี้มีกลิ่นอายของความสุขและความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต นับว่าเป็นบทบันทึกความทรงจำที่ดี จึงนำมาถ่ายทอดเป็นงานจิตรกรรม 2 มิติ ผ่านกระบวนการเย็บปักเพื่อแสดงถึงการเติมเต็มความสมบูรณ์ในส่วนที่ขาดไปในชีวิต ควบคู่ไปกับการใช้ภาพพิมพ์ การเพ้นท์ด้วยหมึกจีน และการใช้สีเกรยอง โดยโทนสีและบรรยากาศจะดูหม่นหมอง สะท้อนถึงคุณค่าที่กำลังจะจางหาย ซึ่งคนรุ่นหลังอาจจะไม่มีโอกาสได้พบเห็นอีกแล้ว”
ส่วน น.ส.สุภาภรณ์ จุลกะ ซึ่งใช้ความเจ็บปวดของประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาถ่ายทอดเป็นผลงาน “ดอกไม้ของแม่ หมายเลข 20” โดยยึดหลักการใช้ศิลปะบำบัดจิตใจ “แนวคิดของผลงานชิ้นนี้เริ่มจากที่คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม และเราเองได้เห็นพัฒนาการของโรค การรักษามา จนถึงวินาทีของการจากลา ทำให้ซึมซับถึงความเจ็บปวดของแม่มาโดยตลอด จึงทำผลงานชิ้นนี้หลังจากที่คุณแม่จากไปเพื่อเป็นของขวัญให้กับแม่ โดยถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ออกมาเป็นสัจธรรมผ่านการดรออิ้งในส่วนที่เป็นสีดำและลายเส้น และใช้การเพ้นท์ติ้งในส่วนที่เป็นดอกไม้ เปรียบก้อนมะเร็งเป็นเสมือนดอกไม้ สีที่แสดงนั้นคือเลือดและความเจ็บปวด ซึ่งหากเรารับรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของการเกิด เจ็บ และสูญสลายก็จะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข”
ทั้งหมดนี้คือผลงานที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของศิลปินซึ่งมีให้กับสังคมและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่เมื่อผู้ชมได้เสพผลงานเหล่านี้แล้ว อาจจะเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้เราใช้เวลาไปยึดติดอยู่กับอะไร มากเกินไปหรือไม่ ไปเบียดเบียนธรรมชาติบ้างหรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ใครคงตอบไม่ได้นอกจากใจของเราเอง ผู้ที่สนใจชมผลงานเหล่านี้ สามารถเข้าชม นิทรรศการผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 เวลา 08.30 - 16.30 น. (ทุกวันยกเว้นวันจันทร์) ณ หอศิลปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า หลังจากนั้นจะนำไปจัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ วันที่ 7-28 สิงหาคม 2558 ณ เฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น. -17.00 น.