ในทุกๆ ปี เรามักจะเห็นกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะคนไทยมีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยพันธุ์กล้วยไม้สามารถนำต่างสายพันธุ์มาผสมกันเพื่อให้เกิดพันธุ์ที่แข็งแรงขึ้น ทนทานกับสภาวะอากาศมากขึ้น หรือปรับปรุงพันธุ์ให้สวยงามเพื่อนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ประโยชน์อันเป็นที่สุดของกล้วยไม้ไม่ว่าจะเพื่อการใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการค้า ในที่สุดก็มุ่งไปสู่ประโยชน์ทางการศึกษาและจิตใจ ผู้ประกอบธุรกิจการค้ากล้วยไม้จึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์พื้นฐานดัง กล่าวนี้เป็นสำคัญ เพื่อการผลิตและการประกอบการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง”จากการเริ่มศึกษาค้นคว้ากล้วยไม้ด้วยทุนส่วนตัว จนนำมาสู่การอุทิศตนให้กับงานค้นคว้าวิจัย ด้านกล้วยไม้ตลอดมาจนได้รับการยอมรับจากวงการกล้วยไม้ของโลกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมากที่สุดผู้หนึ่ง จากอดีตที่กล้วยไม้ถือเป็นดอกไม้ในสังคมชั้นสูงเท่านั้น ศาสตราจารย์ระพีพยายามทำให้ทุกคนสามารถปลูกกล้วยไม้ได้นำไปสู่การที่ชาวต่างชาติรู้จักกล้วยไม้ไทย และต่อยอดกลายเป็นอาชีพหรือธุรกิจได้
ด้วยความรักและเห็นคุณค่าในกล้วยไม้ ศาสตราจารย์ระพี คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Conference) หรือในชื่อ เอพีโอซี (APOC) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และจัดให้มีการประชุมขึ้นทุกๆ ๓ ปี โดยมีนานาประเทศเข้าร่วมประชุมและอวดศักยภาพด้านการผลิต วิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ประเทศไทยเองเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอพีโอซี เมื่อครั้งที่ ๔ ที่ จ.เชียงใหม่ ในพ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งความสำเร็จจากการจัดงานดังกล่าวทำให้วงการกล้วยไม้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมีการเติบโตพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการผลิตและด้านการตลาด
ในปี ๒๕๕๓ ศ.ระพี สาคริกได้ให้ความเห็นว่า จะป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสัมมนากล้วยไม้อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากวงการกล้วยไม้ในระดับนานาชาตินั้นมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก นวัตกรรมต่างๆ ถูกคิดค้นขึ้นอย่างแพร่หลาย กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ ๑๒ (Asia Pacific Orchid Conference : APOC 12)โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งนับเป็นการจัดงานกล้วยไม้ระดับนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ ๒๐ปีของประเทศไทย และเป็นโอกาสสำคัญที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่อยู่ในแวดวงกล้วยไม้ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาประเทศ
กิจกรรมภายในงาน APOC 12 ประกอบด้วยการประชุมวิชาการกล้วยไม้นานาชาติ การประชุมวิชาการและการฝึกอบรมการแสดงนิทรรศการวิชาการ, การอนุรักษ์, นวัตกรรมกล้วยไม้, การจัดแสดงและประกวดกล้วยไม้ อาทิ การจัดสวนกล้วยไม้, กล้วยไม้ต้น, กล้วยไม้ตัดดอก,การจัดแสดงและประกวดศิลปะจากกล้วยไม้ ได้แก่ การจัดดอกไม้, ภาพวาด ภาพถ่าย และประติมากรรมกล้วยไม้, สิ่งประดิษฐ์จากกล้วยไม้ ได้แก่ กล้วยไม้อัดแห้ง พวงมาลัยกล้วยไม้ฯ และอื่นๆ การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน พืชอนุรักษ์ การจัดทัศนศึกษา การจำหน่ายกล้วยไม้นานาชนิด สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย การแสดงกิจกรรมและผลงานของเยาวชน รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย
ในช่วงที่ผ่านมา ศ.ระพี สาคริก และกรมวิชาการเกษตรได้พยายามที่จะประชาสัมพันธ์งานประชุมดังกล่าวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนี้ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเชิญชวน ผู้มีใจรักล้วยไม้ นักวิชาการ ชมรมและสมาคมกล้วยไม้ต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการจากนานาประเทศให้เข้ามาร่วมงาน ได้มีโอกาสเดินทางเข้าร่วมงานแสดงกล้วยไม้ในประเทศต่างๆ อาทิ งาน Okinawa International OrchidShow 2015 เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น งาน Taiwan International Orchid Show2015 ประเทศไต้หวันงาน Singapore Orchid Show2014 ณ ประเทศสิงคโปร์งานกล้วยไม้โลกครั้งที่21World Orchid Conference 2014 ณ ประเทศอัฟริกาใต้และงาน European Orchid Show & Conference2015 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้นซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยขณะนี้มีผู้สนใจกว่า15 ประเทศ ตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว
“ประเทศไทยยังเป็นแหล่งพันธุกรรมกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลกมีสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศ ในการผลิตและเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกและต้นกล้วยไม้เขตร้อนรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายนักกล้วยไม้ไทยเป็นคนเก่ง มีหลายคนหลายกลุ่มที่มีความสามารถในการค้นคว้า วิจัย มีการสำรวจค้นพบกล้วยไม้สกุลและชนิดใหม่ๆที่เกิดตามธรรมชาติ และพัฒนาพันธุ์ผสม จนได้ กล้วยไม้พันธุ์ดีพันธุ์ใหม่ๆสำหรับทำการค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามและใช้ระยะเวลาเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีขึ้นมา แต่เราก็ไม่เคยย่อท้อ เราผ่านอุปสรรคต่างๆ มามากมายจากภัยธรรมชาติเอง จากภาวะการแข่งขันหรือภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เราก็ยังคงตั้งมั่นในการอนุรักษ์เพื่อรักษาฐานพันธุกรรมกล้วยไม้ให้ดำรงคงอยู่และสร้างสรรค์พันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ ต่อไป เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือเหมาะต่อการเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สำหรับงานนี้ จึงอยากเชิญชวนให้สมาคมกล้วยไม้ต่างๆ อาทิ สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมชาวสวนกล้วยไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย สมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยและสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย ได้ประสานงานสมาชิกในสมาคมได้ผนึกกำลังกันเข้าร่วมงานอย่างสมัครสมานสามัคคี แสดงความเป็นหนึ่งเดียวและเข้มแข็งของประเทศไทยให้กับต่างชาติได้รับรู้” บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย ทิ้งท้าย