“การวิ่งมาราธอน” กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกปี ทั้งจำนวนผู้วิ่งที่มีเพิ่มขึ้น ทั้งอีเว้นท์การแข่งขันที่มีหลากหลายรูปแบบ และเพิ่มจำนวนสนามแข่งขันอย่างต่อเนื่อง อาจเพราะเป็นกีฬาที่ทำให้เราเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายได้อย่างง่ายๆ ลงทุนต่ำ และทำได้ในหลายสถานที่ กิจกรรมการวิ่งประเพณีครั้งสำคัญของประเทศไทย “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกรุงเทพมาราธอน (Standard Chartered Bangkok Marathon)” ซึ่งทางธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ก็เป็นอีกหนึ่งสนามแข่งที่มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยในปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 50,000 คน จาก 60 ประเทศทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “Run for a reason” เป้าหมายที่อยู่เหนือเส้นชัย
กิจกรรมการวิ่งในครั้งนี้ไม่เพียงแค่ได้เห็นภาพของนักวิ่งมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่ต่างลงแข่งขันด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในจิตใจที่แตกต่างกันไปแล้ว ยังได้เห็นภาพความหลากหลาย (Diversity) ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ ตลอดจนผู้พิการทางสายตากับนักวิ่งจิตอาสาที่ประคองช่วยเหลือกันจนเข้าเส้นชัย การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างทางแม้จะต่างคนต่างมา รวมถึงได้เห็นแรงใจจากเหล่าบรรดากองเชียร์ที่มาสร้างสีสันและเสียงเชียร์ให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขันอย่างสนุกสนาน นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการวิ่งมาราธอนเปรียบเสมือนสื่อกลางที่ช่วยลดความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี สมกับเจตนารมณ์ของ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ในเรื่องของ Diversity & Inclusion
นางลิน ค็อก กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทยและลุ่มแม่น้ำโขง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ธนาคารได้ดำเนินการตามนโยบายเรื่องของ Diversity & Inclusion มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ให้การสนับสนุนนักวิ่งผู้พิการทางสายตาเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่งที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ จัดให้มีนักวิ่งจิตอาสาร่วมเป็น ไกด์รันเนอร์ (Guide runner) วิ่งกับผู้พิการทางสายตา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 60 คู่ 120 คน ในเส้นทาง 10 กม. และ 4.5 กม.
นอกจากนี้ยังมีกองเชียร์และขบวนพาเหรดหลากหลายขบวน อาทิ พาเหรด 4 ภาคที่แต่งกายด้วยชุดที่แสดงถึงศิลปะวัฒนธรรมประจำถิ่น และพาเหรด LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) ที่สนุกสาน งดงามตระการตา เพื่อสร้างเสียงเชียร์ สร้างความสุข และความบันเทิงแก่ผู้เข้าแข่งขันและผู้มาร่วมงาน อีกทั้งเพื่อสะท้อนให้ประชาชนได้ตระหนักและยอมรับความแตกต่าง ในความเสมอภาคทางเพศสภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UN’s Global Goals กับพันธกิจทั้งหมด 17 ประการ โดยเฉพาะประกาศที่ 10 ว่าด้วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ”
นางลอเลน โอเลอ กานิกเคล (Ms.Laure ole Ghellincnk) นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสและครอบครัว ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งเล่าถึงความประทับใจว่า “เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวิ่งมาราธอนระดับประเทศ ซึ่งทุกคนในครอบครัวลงแข่งขันในประเภทมินิมาราธอน ระยะทาง 10 กิโลเมตร ตลอดระยะทางของการวิ่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์นั้น ได้ชมวิวของกรุงเทพมหานครที่สวยงามในมุมต่างๆ อย่างใกล้ชิด ได้เห็นกองเชียร์ในชุดแต่งกายสวยงามมาร่วมเชียร์ ซึ่งหากมีโอกาสจะขอเข้าร่วมกิจกรรมเช่นนี้อีก”
เพราะในสังคมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายปะปนกันไป การยอมรับในความต่างเหล่านั้น จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่างอย่างแท้จริง นอกเหนือความสุขที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่เส้นชัยแล้ว ระหว่างทางวิ่งแค่เพียงหันมามองความแตกต่างรอบข้างด้วยหัวใจ ความสุขก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน