3 คนบันเทิงแนะ สร้างผลงานโทรทัศน์ยุคใหม่ “เนื้อหา” สำคัญกว่า “เอ็ฟเฟ็คต์”


ตั้ม-พัฒนะ จิรวงศ์ นักทำสารคดีมือดี เจ้าของหนังสั้นรางวัลมากมาย เริ่มเปิดม่านการเวิร์คช้อปในวันนั้น ด้วยการเปิดคลิปวิดีโอสั้นๆ 2-3 เรื่อง ให้น้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้รับชม แม้แต่ละคลิปจะมีความยาวเพียงไม่กี่นาที และดูจะเกิดจากการถ่ายทำเพียงง่ายๆ แทบจะไม่มีเทคนิคใดๆมาเสริมแต่ง นอกจากการตัดต่อร้อยให้เป็นเรื่องราวเท่านั้น แต่ก็ทำให้น้องในห้องเวิร์คช้อปมีทั้งเสียงหัวเราะ แอบปาดน้ำตาเบาๆ หรือแม้แต่ส่งเสียงร้องลั่นห้องด้วยความตกใจกลัว  ก่อนที่ผู้กำกับคนเก่งจะเฉลยเป้าประสงค์ที่เปิดคลิปนี้ให้ดูว่า การที่น้องๆมีอารมณ์ร่วมจากสิ่งที่ได้เห็นนั้น เกิดขึ้นจากการสร้างเนื้อหาหรือคอนเท้นท์ (Content) ที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคหรือเอฟเฟ็คต์ใดๆเลย “สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตสารคดี รายการข่าว หรือหนังสั้นใดๆ ก็ตาม คือเราต้องเลือกสร้างผลงานในหัวข้อ หรือเรื่องที่ชอบก่อน เพราะจะทำให้เราเกิดความกระตือรือร้นในการค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งการหาข้อมูลถือเป็นส่วนสำคัญในการผลิตรายการโทรทัศน์ และอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญคือวิธีการนำเสนอโดยมุ่งเน้นที่ “เนื้อหาหรือคอนเทนท์ (Content)” มากกว่าการใช้ “เทคนิคหรือเอ็ฟเฟคต์(Effect)” เพราะการเป็นนักสื่อสารที่ดีจะต้องนำเสนอเนื้อหาที่ถูกต้อง แม่นยำ ผ่านการเล่าเรื่องที่น่าสนใจตามวิธีการนำเสนอของตัวเอง”

ด้าน  กฤต เจนพานิชการ ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าวนักเล่าเรื่องคนเก่งอีกคนหนึ่ง แนะเทคนิคการ “เล่าข่าวอย่างไรให้โดนใจคนดู” ว่า “การเป็นนักสื่อสารมวลชน หรือการเป็นผู้ประกาศข่าวที่ดีนั้น การนำเสนอเนื้อหาจะต้องเป็นเรื่องราวที่ ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยกตัวอย่างการรายงานข่าวล่าสุดกับปัญญาน้ำท่วมที่สร้างความเดือนร้อนให้คนกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่าน เราในฐานะสื่อมวลชนจึงต้องนำเสนอข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้ทราบถึงปัญหาคือการทิ้งขยะลงแม่น้ำ ส่งผลให้เกิดการอุดตันทางท่อระบายน้ำและเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา จากนั้นต้องบอกถึงการแก้ไขปัญหาคือรณรงค์ให้คนช่วยกันลดการทิ้งขยะลงแม่น้ำและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง”

ส่วนนางฟ้าไอที ซี-ฉัตรปวีณ์  ตรีชัชวาลวงศ์ เจ้าแม่แกดเจ็ด  (Gadget) ที่รับหน้าที่บอกเล่าเรื่อง “เครื่องมือไอทีกับการสร้างสรรค์ผลงาน” ก็มาแนะนำน้องๆ ถึงเทคโลโลยีที่แสนจะทันสมัยอย่าง “กูเกิล กลาส (Google Glass)” หรือแว่นอัจฉริยะกูเกิล ที่มาพร้อมเทคนิคทันสมัยมากมาย แต่ถึงกระนั้นซีเองก็ตบท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า “ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สามารถสร้างผลงานเป็นคลิปวิดีโอ ภาพยนตร์สั้น หรืออื่นๆ ด้วยเครื่องมือแบบง่ายที่มีอยู่ใกล้ตัวอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ออกมาได้อย่างน่าสนใจ แต่สำหรับการทำงานในระดับมืออาชีพเราควรเริ่มเรียนรู้การผลิตรายการโทรทัศน์ด้วยเครื่องมือมาตรฐานก่อน เพราะเราจะได้รู้ถึงเทคนิคต่างๆ  ซึ่งหากมีความชำนาญมากขึ้น ก็สามารถไปประยุกต์กับการใช้เครื่องมือแบบง่ายได้ และอีกเรื่องที่สำคัญ  คือการเผยแพร่ผลงานลงในโลกโซเชียล ซึ่งข้อดีก็คือ การเปรียบเสมือนการแนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการให้คนทั่วโลกรู้จัก ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเผยแพร่ ข้อสำคัญในโลกโซเชียลนั้นจะมีการแชร์ข้อมูลหรือการส่งต่อข้อมูลกันรวดเร็วมาก ผลงานของเราต้องมีเนื้อหาหรือจุดเด่นที่ดีจริงๆ จึงจะเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงหรือส่งต่อกันในวงกว้าง” 

เวิร์คช้อปนี้เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมสร้างความรู้และแรงบันดาลที่ผู้เข้าประกวด ในโครงการ “สร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าว กับพานาโซนิค (Panasonic Kid Witness News) จะได้ร่วมฝึกปรือฝีมือ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีอายุ 10-15 ปี ส่งผลงานการผลิตรายการโทรทัศน์ในสไตล์ของตัวเองกับ 3 โจทย์ให้เลือกคือ  ได้แก่ การสื่อสาร (Communication) สิ่งแวดล้อม (Environment) และ กีฬา (Sport) ความยาวไม่เกิน 3-5 นาที  ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท และมีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป