คำว่า “งานศิลปหัตถกรรมไทย” ดูจะเป็นคำที่ไกลตัวจากเด็กๆ อยู่พอสมควร เพราะเมื่อเอ่ยถึงงานหัตถกรรม เราก็จะมักจะนึกภาพผู้สูงอายุหรือผู้ใหญ่ที่กำลังก้มหน้าก้มตาประดิษฐ์ประดอยผลงานจากภูมิปัญญาด้วยความวิจิตรบรรจง ในขณะที่ลูกๆ หลานๆ ก็พากันวิ่งเล่นไปมาอยู่ไกลๆ ปล่อยให้เป็นงานของผู้ใหญ่ไป
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จึงได้จัดงาน “กรีน คราฟท์ เฟสท์ (Green Craft Fest)” หรืองานหัตถกรรมรัก(ษ์)โลกขึ้น โดยเปิดสวนพืชหัตถกรรมอินทรีย์ ขนาด 8 ไร่ ภายในศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จัดเป็นนิทรรศการเชิงสร้างสรรค์ ให้เยาวชนได้เรียนรู้และลงมือทำงานหัตถกรรมทำมือที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย พร้อมกันนี้ยังปลูกฝังแนวคิดการเลือกใช้วัตถุดิบ และขั้นตอนการผลิตงานหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนที่เข้าร่วมงานได้รับความรู้กลับบ้านไปอีกด้วย
พิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. บอกว่า “หัตถกรรมรักษ์โลก คือหัตถกรรมที่หลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน ไม่เพียงเฉพาะแค่การเลือกใช้วัตถุดิบเท่านั้น แต่การปลูกฝังเรื่องวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นถือเป็นกระบวนการแรก งาน Green Craft Fest ครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงานหัตถกรรมแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการแรก ไปจนถึงผลผลิตขั้นสุดท้าย และยังเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมงานได้รู้จัก รัก(ษ์)ในภูมิปัญญาไทยที่มีมายาวนาน หวงแหน และร่วมสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป”
โดยในวันแรกของกิจกรรม Green Craft Fest เยาวชนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 3 (วัดบางไทร) โรงเรียนวัดอัมพวา (วัฒนราษฎร์อุปถัมภ์) โรงเรียนบ้านแพน และโรงเรียนอนุบาลบางไทร กว่า 500 คน ได้มีโอกาสรู้จักกับสวนเกษตรอินทรีย์ ที่ประกอบด้วยพืชหัตถกรรม หรือพืชพรรณที่สามารถนำไปประกอบเป็นงานศิลปหัตถกรรมได้ อาทิ เมล็ดข้าว กก เถาวัลย์แดง คราม ฝ้าย ไม้ไผ่ ผักตบชวา อัญชัน กระจูด และพืชกินได้อีกกว่า 60 ชนิด ได้รู้จักกับงานหัตถกรรมที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น ตุ๊กตาสานจากผักตบชวา งานศิลปะจากเมล็ดข้าว จักสานเถาวัลย์แดง การย้อมครามและสีธรรมชาติ และยังได้จัดลองทำงานหัตถกรรมทำมือจากช่างผู้ชำนาญ อาทิ การสลักชื่อบนเมล็ดข้าว กระเช้าใส่ตะกร้าต้นไม้ที่สานจากเถาวัลย์แดง จักสานพัดจากไม้ไผ่ ทำพวงกุญแจจากตุ๊กตาผักตบชวา เป็นต้น
จบกิจกรรมในวันนี้ เด็กๆหลายคนพร้อมใจกันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า งานนี้นอกจากจะได้ชิ้นงานหัตถกรรมฝีมือของตัวเองกลับบ้านไปแล้ว ยังได้ความรู้มากมายที่จะนำกลับไปบอกต่อพ่อแม่ พี่น้อง และคนในชุมชนของพวกเขาให้มีความรู้เรื่องหัตถกรรมรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น และจะบอกต่อเรื่องการปลูกพืชหัตถกรรมอินทรีย์ ที่นอกจากจะสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวและรัก(ษ์)โลกอีกด้วย