By a publicist 23 กรกฎาคม 2564
แม้โควิด-19 จะเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่กำลังสร้างความกังวลให้กับผู้คนในยุคนี้อย่างมาก แต่นั่นไม่ใช่ภัยคุกคามด้านสุขภาพเพียงชนิดเดียวที่สังคมไทยต้องเผชิญ เพราะการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากโรคประจำถิ่น โรคตามฤดูกาล หรือแม้แต่อุบัติเหตุ ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่ทุกคนไม่อาจนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะกับพื้นที่ห่างไกลซึ่งไม่สะดวกต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีระยะทางเป็นตัวแปรสำคัญ จากสถิติการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยเฉียบพลันของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เสียชีวิตช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลมีอยู่มากกว่า 20%* เนื่องจากการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปรักษายังเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งจากสภาพการจราจรบนท้องถนนในเขตเมือง และความห่างไกลจากสถานพยาบาลของชุมชนหลายท้องถิ่น สิ่งนี้ทำให้มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยริเริ่มโครงการสร้างศูนย์ปฐมพยาบาล (Pfizer First-aid Center) เพื่อมอบให้กับชุมชนห่างไกล โดยดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ศูนย์ปฐมพยาบาลที่สร้างแล้วเสร็จใน 4 จังหวัด ได้นำความช่วยเหลือไปหาผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ทำหน้าที่เป็นสถานที่บำบัดรักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างทันท่วงที รวมทั้งมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพให้กับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง
ที่ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่ตั้งของหนึ่งใน 4 ศูนย์ปฐมพยาบาลจากมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยที่สร้างแล้ว นายอาฐินนท์ พึ่งสันเทียะ ผู้ประสานงานพันธกิจภูมิภาค ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้เล่าว่า “ในพื้นที่ของ ชุมชนบ้านโป่งสามสิบ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เคยมีโรคประจำถิ่นคือไข้เลือดออกซึ่งน้อยลงไปแล้ว แต่กลับมีชิคุนกุนยา (โรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ) มาแทน และเมื่อเป็นแล้วจะเป็นหนักด้วย จะเห็นว่าแม้เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้สถานที่ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่จริง ๆ แล้วชาวบ้านและเด็กในพื้นที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงสุขภาพที่ดี เพราะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ตั้งอยู่ห่างออกไปถึง 5 - 6 กิโลเมตร บนเส้นทางที่ไม่สะดวกสบายนัก ปัญหาเหล่านี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยในการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน นำมาสู่การสร้างศูนย์ปฐมพยาบาลชุมชนขึ้นที่โรงเรียนบ้านโป่งสามสิบ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีห้องพยาบาลเลย ทั้งยังขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการปฐมพยาบาล มีเพียงตู้ยาสามัญประจำบ้านเก็บไว้ที่ห้องเรียนชั้น ป.6 และใช้ห้องเรียนชั้นอนุบาลเป็นห้องพักฟื้น โดยศูนย์ปฐมพยาบาลที่สร้างใหม่แห่งนี้มี 5 เตียง ซึ่งแพทย์จาก รพ.สต.สามารถใช้เป็นฐานสำหรับดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย รวมทั้งให้การอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการเจ็บป่วย ตลอดจนการให้ความรู้ในเรื่องของการป้องกันและการรับมือกับโรคระบาดต่าง ๆ เช่น โรคโควิด-19 ได้ เป้าหมายในอนาคต คือการสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพ ให้กับผู้คนในชุมชน ขยาย ความร่วมมือให้สามารถเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในการดูแลชาวบ้าน เปิดคลินิกเป็นประจำทุกสัปดาห์หากเป็นไปได้ หรือแม้แต่การเป็นศูนย์อพยพหรือดูแลคนเจ็บป่วยกรณีเกิดภัยพิบัติ”
ด้าน นายสาโรจน์ วิทยชาญวิฑูร ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลตำบลกะเปอร์ จ.ระนอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ดำเนินโครงการสร้างศูนย์ปฐมพยาบาลเล่าว่า “ปัญหาหลักในเรื่องของการรับบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่กะเปอร์ อันดับแรกคือประชากรที่แอบแฝงอยู่ เช่น แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ อันดับสองคือโรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมของประชาชน และอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น ท้องร่วง เพราะสภาพอากาศที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ส่งผลให้น้ำบาดาลและน้ำประปาที่ใช้อาจไม่สะอาด ทำให้แต่ละวันจะมีผู้ป่วยเข้าใช้บริการที่ รพ.สต.ค่อนข้างมาก”
ส่วน นางชาลี คฑาเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านด่าน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ซึ่งเป็นสถานที่สร้างศูนย์ปฐมพยาบาลของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ได้เล่าถึงแผนงานในอนาคตว่า ได้ตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลมาใช้ประโยชน์จากที่นี่ด้วย โดยอาจจะเป็นจุดนัดหมายเพื่อติดตามโรคบางโรค หรือการให้บริการตรวจสุขภาพฟันของนักเรียน แทนการต้องพาเด็ก ๆ ไปที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังวางแผนร่วมกับเทศบาลในการจัดอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. มาดูแลประจำที่ศูนย์ปฐมพยาบาลวันละไม่ต่ำกว่า 2 คน ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเอง ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมาช่วยดูแลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ขณะที่ ชุมชนหนองบอน อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ อีกหนึ่งพื้นที่ในโครงการสร้างศูนย์ปฐมพยาบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านป่วยเป็นโรคเบาหวานจำนวนมากนั้น นายวีระชัย มุขะกัง ผู้จัดการกลุ่มโปรแกรม จ.บุรีรัมย์ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างศูนย์ปฐมพยาบาลในพื้นที่นี้ เล่าว่า “เมื่อชาวบ้านมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจะส่งผลให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อยและมากผิดปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าอาการรุนแรงอาจชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ เคยมีกรณีของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในชุมชนหนองบอนที่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน แล้วเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดแปรปรวนเฉียบพลันขณะขับรถ ทำให้วูบจนหมดสติกะทันหัน จนรถประสบอุบัติเหตุลงข้างทาง ถือเป็นอีกหนึ่งในความน่ากลัวและคงจะเป็นเรื่องที่ลำบากไม่น้อยหากเกิดขึ้นกับในผู้สูงอายุ จึงเสนอพื้นที่ในโรงเรียนหนองบอนฐานเจ้าป่าเป็นสถานที่สร้างศูนย์ปฐมพยาบาล ที่นี่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนทั้งหมดมีฐานะยากจนและไม่สามารถดูแลจัดการเรื่องสุขภาพอนามัยเองได้ ที่ผ่านมาเมื่อมีการเจ็บป่วยจะให้เด็กนอนพักด้านหลังห้องเรียนของแต่ละระดับชั้นเรียน เช่นเดียวกับคนในชุมชน เมื่อต้องการการรักษาพยาบาลก็ต้องเดินทางไปยัง รพ.สต. ที่อยู่ไกลกว่า 10 กม. ในขณะที่ชุมชนนี้อยู่ในหุบเขา ไม่มีถนนลาดยาง ทำให้ลำบากหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น การมีศูนย์ฯ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันของคนในชุมชนที่อยู่ห่างไกลได้”
โครงการศูนย์ปฐมพยาบาลชุมชน (Pfizer First-aid Center) ไม่เพียงเป็นศูนย์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พึ่งพาแห่งแรกของคนในชุมชน ช่วยประเมินความรุนแรงในการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที เพราะความเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนและในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการดูแลด้านสุขอนามัย เผยแพร่ความรู้ ฝึกฝนการปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ตลอดจนชาวชุมชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง
ในปี 2564 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปี ของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย มีศูนย์ปฐมพยาบาลสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ภายในปี 2565 มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยและมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จะเดินหน้าสร้างศูนย์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติมในโรงเรียนที่ห่างไกลอีก 6 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (2 แห่ง) พังงา เพชรบุรี จันทบุรี และสตูล รวมเป็น 10 แห่งในทุกภูมิภาคของประเทศ ตามปณิธานของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ที่ต้องการให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
*ข้อมูลจาก นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เมื่อปี 2560