10 ความจริง ที่ทำให้ส้มเป็นผลไม้ที่ “อมพิษ” มากที่สุด !!


ปฏิเสธไม่ได้ ว่า “ส้ม” เป็นผลไม้ยอดนิยม และมีความผูกพันกับผู้บริโภคไทย ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ หาทานได้ง่ายตลอดทั้งปี เป็นของชำร่วยยอดฮิต และยังเป็นผลไม้แห่งการกราบไหว้ ด้วยสีทองผ่องประกายแวววาว ให้ความหมายที่เป็นมงคล แต่เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า “ส้ม” ที่เรากินอยู่นั้น มาจากที่ไหน มีกระบวนการเพราะปลูกอย่างไร ปลอดภัยจริงหรือไม่ และทำไมถึงมีส้มให้บริโภคกันได้ตลอดทั้งปี 

หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าส้มผลสวยที่เห็นในท้องตลาดนั้น มีอันตรายมากกว่าที่คิด จากผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในส้มโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่าส้มเป็นผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างถึง 100% จากจำนวนที่ตรวจสอบทั้งหมด และไม่ว่าจะตรวจกี่ครั้ง ก็พบสารเคมีตกค้างซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) ทุกครั้ง

อะไรทำให้ส้มสารพัดประโยชน์กลายเป็นส้มอมพิษไปได้? นี่คือ 10 ความจริงที่ส้มอมไว้ 

1.  เรากินส้มกันตลอดทั้งปี ทั้งในและนอกฤดูกาล

ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงอันดับต้น ๆ ในตลาด มีความต้องการบริโภคส้มตลอดทั้งปี ซึ่งความจริงแล้วธรรมชาติของส้มมักชอบที่เย็น เติบโตดีช่วงหน้าหนาว มีผลให้กินไปถึงช่วงเมษายน แต่ส้มเป็นพืชที่อ่อนแอ ต้องมีการใช้ยารักษาโรคและกำจัดศัตรูพืชอยู่ตลอดทุกช่วงอายุ  และยังต้องออกลูกนอกฤดูกาลเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 รุ่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ทำให้มีการใช้สารเคมีกว่า 100 ชนิด เพื่อเร่งการผลิตเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการบริโภคส้มในฤดูกาล คือช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม จึงน่าจะปลอดภัยที่สุด เพราะผู้ผลิตจะไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีมากในช่วงนี้ 

2. ผู้บริโภคเลือกซื้อแต่ส้มสีเหลืองทอง

ด้วยความเชื่อที่ว่าส้มเป็นผลไม้มงคล เป็นตัวแทนของทองคำ ความรุ่งเรืองและร่ำรวย ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมักเลือกซื้อส้มที่มีสีเหลืองทองแวววาว ผิวเรียบสวย มาเป็นผลไม้บำรุงร่างกายคนในครอบครัว ใช้ประกอบพิธีมงคล รวมถึงเป็นกระเช้าของขวัญสำหรับทุกเทศกาล แต่รู้หรือไม่ว่า ส้มสีทองแวววาวนั้น ผู้ผลิตต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากเพื่อให้ส้มมีผิวสวยออร่าน่าซื้อ ไม่มีลายดำ โดยต้องฉีดยาทุกอาทิตย์แบบต่อเนื่อง เพื่อให้ส้มไม่ขึ้นลาย ผิวทอง ลูกใหญ่ ดังนั้นส้มที่มีลายหรือขึ้นลายย่อมมีระยะการฉีดพ่นสารเคมีที่น้อยกว่าส้มสีทอง แม้ว่าจะไม่สวยเป๊ะ แต่ปลอดภัยกว่า ผู้บริโภคจึงควรปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมในการเลือกซื้อส้ม โดยตระหนักว่ายิ่งส้มมีผิวสวยออร่าดั่งทองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมากเท่านั้น

3. ผู้จำหน่ายคัดเกรดเลือกเอาแต่ส้มสวย

จากพฤติกรรมการเลือกซื้อแต่ส้มสีทอง ทำให้เกิดเป็นวัฏจักรที่ผู้จำหน่ายต้องคัดเอาแต่ส้มลูกใหญ่ ผิวทอง สวย หวาน มาจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะมั่นใจว่าจะขายได้แน่นอน ส่วนส้มที่มีลายดำ ผิวไม่สวย จะถูกโละเกรดส่งตลาดทั่วไป  ส่งผลให้เกษตรกรต้องหาวิธีต่าง ๆ มาทำให้ผลผลิตออกมาสวยน่าซื้อ ได้ราคาดี  จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

4. สารเคมีที่ใช้ในส้มส่วนใหญ่เป็นสารตกค้าง

การเร่งผลผลิตส้มเพื่อรองรับความต้องการตลอดทั้งปี ทำให้มีการใช้สารเคมีรวมถึงยาฆ่าแมลงและกำจัดศัตรูพืช รวมกว่า 100 ชนิด มีการฉีดพ่น ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ และจากการสำรวจพบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด เช่น สารคาร์เบนดาซิม (Carbendazim), สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) และสารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถล้างออกได้ ทำให้เกิดการสะสม และส่งผลอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว และทำให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคผิวหนัง เซลล์ประสาท โรคเกี่ยวกับความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และสามารถส่งต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์จนอาจทำให้ทารกพิการได้ โดยจากการสุ่มตรวจพบว่ากลุ่มของผู้บริโภคมีเปอร์เซ็นต์ของพิษจากยาฆ่าแมลงมากกว่ากลุ่มของเกษตรกรเสียอีก 

5. ไม่ใช่แค่การพ่นแต่เป็นการฉีดสารเคมีเข้าไปในลำต้น

หลายคนคงเข้าใจว่าการใช้สารเคมีกับส้มแสนอร่อยของเราเป็นเพียงแค่การฉีดพ่นภายนอกเท่านั้น แต่ความจริงแล้วผู้ผลิตจะฉีดเข้าไปในลำต้น เริ่มตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่ม ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปยังช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งไม่สามารถล้างออกได้เนื่องจากกระจายไปทั่วทั้งเซลล์ไม่เว้นแต่เนื้อในของผลส้ม แม้จะถูกล้างทำความสะอาดด้วยด่างทับทิมแล้วก็ยังไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด

 

6. ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ดินเสื่อมคุณภาพเพราะสารเคมีอันตรายสะสม

การใช้สารเคมีกว่า 100 ชนิดในการปลูกส้ม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนกินส้มแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศนจากการเร่งผลผลิตตลอดทั้งปี ทำให้ดินไม่ได้พักตามธรรมชาติ เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม  สารเคมีถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเป็นกรดจนสัตว์น้ำหลายชนิดเสียชีวิต และอันตรายที่สุดเมื่อละอองสารเคมีลอยไปตามอากาศ ส่งผลให้แมลงดีเสียชีวิต ทำให้เสียสมดุลทางธรรมชาติ แมลงร้ายส่วนหนึ่งเกิดอาการดื้อยาแล้วอพยพไปยังแปลงเกษตรข้างๆ ทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนมาใช้สารเคมีเช่นเดียวกัน เกิดเป็นวัฏจักรการบริโภคสารเคมีอันตรายอย่างต่อเนื่อง

 

7. เกษตรกรไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ไม่อยากมีความเสี่ยง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราคงคิดว่าในเมื่อมีสารเคมีอันตรายมากมายแบบนี้แล้ว ทำไมเกษตรกรหรือผู้ผลิตส้มยังใช้กระบวนการผลิตแบบนี้ ต้องบอกว่าความจริงแล้วเกษตรกรก็ไม่ต้องการมีความเสี่ยง การลงทุนเพาะปลูกส้มในแต่ละครั้งย่อมต้องการผลผลิตที่สร้างรายได้ แต่ด้วยความที่ส้มเป็นพืชที่อ่อนแอมีโรครุมตลอดทั้งปี จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วยต่อสู้กับโรคและศัตรูพืชต่าง ๆ ประกอบกับพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภค และการรับซื้อแบบคัดเกรดของผู้จำหน่ายก็ผลักดันให้ผู้ผลิตต้องใช้สารเคมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

8. ผู้บริโภคตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มไม่ได้

แหล่งที่มาของส้มสำคัญอย่างไร? หลายคนเลือกซื้อส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำเพราะคิดว่าจะได้รับสินค้าที่ปลอดภัย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจนั้นมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด การทราบแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตส้มจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคควรจะตรวจสอบได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงควรนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ โดยการติด QR Code เพื่อบอกถึงแหล่งที่มา กระบวนการผลิตสินค้า และกระบวนการสุ่มตรวจ ซึ่งจากการสุ่มตรวจในปัจจุบันพบว่า QR Code  ส่วนใหญ่ยังใช้งานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบอกได้ว่าส้มที่เราบริโภคอยู่นั้นมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

9. ประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้มาตรฐานอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง

เมื่อมีการลงพื้นที่สำรวจตลาดจะพบว่ามีผักและผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่เสมอ แต่กลับวางขายกันปกติ โดยเฉพาะการพบส้มที่มีสารเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยในทุกครั้งที่สำรวจ เป็นเพราะประเทศไทยยังไม่เคยเกิดการบังคับใช้มาตรฐานอาหารปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญในการบริโภคผักผลไม้ของประเทศไทย 

 

10. ผู้บริโภคไม่มีการเรียกร้องอย่างจริงจัง

แม้จะมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการเรียกร้องเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักละเลยหรือเพิกเฉย หลายครั้งมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือใช้วิธีการหลีกเลี่ยงที่จะบริโภคอาหารที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคไม่เคยมีการเรียกร้องอย่างจริงจังหรือร่วมกันส่งเสียงไปยังผู้ขายว่าเราต้องการอาหารปลอดภัย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมพวกเราจึงยังคงได้บริโภคอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างนี้อยู่เรื่อยไป แต่ครั้งนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอันตรายจาก “ส้มอมพิษ” อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

มาช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้กลไกการตลาดผลักดันให้เราได้กินส้มที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เริ่มจากการเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายส้ม โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยติด QR Code เพื่อพิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ได้ที่ www.dearconsumers.com/th/petition  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 

และขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike) พบกับกิจกรรมให้ความรู้เผยความลับของส้มอมพิษ และการสนทนาเรื่อง เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย  - เปลี่ยนที่ใคร? เริ่มตอนไหน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ !! โดยมี เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ตัวแทนผู้บริโภค และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง กับตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนจากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ณ เวลา 10.0012.30  ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ท ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  

 

ติดตามความจริงเกี่ยวกับส้มอมพิษได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก) 

 

Tags: ส้มอมพิษ หยุดส้มอมพิษToxicOrange StopToxicOrange