By a publicist 25 กันยายน 2563
“หนอนหนังสือ” มักจะเป็นคำที่เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ สำหรับเรียกนักอ่านในประเทศไทย แต่รู้หรือไม่ กรีซ ญี่ปุ่น สก๊อตแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ก็มีศัพท์เฉพาะเพื่อเรียกนักอ่านเช่นเดียวกัน ซึ่งในงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25” (Book Expo Thailand 2020) บริเวณนิทรรศการ “Art of กองดอง” ได้จัดแสดงโซน The Reader “กองทับนักอ่าน” เพื่อจะพาเราเข้าไปโลดแล่นในโลกของพวกเขาให้มากขึ้น แต่ก่อนจะถึงวันงานลองมารู้จักกับนักอ่านเหล่านี้กันก่อนดีกว่า
ประเทศกรีซ (Greece) หรือ สาธารณรัฐเฮลเลนิก (Hellenic Republic) เรียกบรรดานักอ่านและคนรักหนังสือว่า บิบลิโอมาเนีย (BIBLIOMANIA) โดยคำว่า บิบลิโอ (Biblio) มาจากภาษากรีกที่แปลว่า หนังสือ รวมกับคำว่า มาเนีย (Mania) ที่แปลว่า ความคลั่งไคล้ เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า คลั่งหนังสือ หรือคนที่รักหนังสือมากในระดับบ้าคลั่ง กองหนังสือคือสวรรค์ กลิ่นหนังสือที่บางคนอาจจะไม่ถูกใจกลายเป็นกลิ่นหอมที่สูดดมได้อย่างมีความสุข การสัมผัสกระดาษและลูบไล้หน้าปกเป็นสิ่งที่ชอบทำ เมื่อได้เข้าไปอยู่ในร้านหนังสือจะไม่เคยออกมามือเปล่า การได้เห็นกองหนังสือรายรอบตัวทำให้รู้สึกอุ่นใจเหมือนมีความรู้มากมายสะสมอยู่ในคลังเสบียง แต่ในความรักหนังสืออาจไม่ได้หมายถึงความรักการอ่าน เพราะบางคนก็รักที่จะสะสม ชอบความรู้สึกได้ครอบครองหนังสือเพียงเท่านั้นเอง
ซึนโดคุ (TSUNDOKU) แน่นอนว่ามาจากประเทศญี่ปุ่น (Japan) โดยคำว่า โดคุ (Doku) มีความหมายว่า อ่าน ส่วนคำว่า ซึน (Tsun) แปลว่า กองไว้ เมื่อมารวมกันเป็นคําว่า TSUNDOKU จึงมีความหมายว่า คนที่สะสมหนังสือกองไว้มากมายในบ้าน คำศัพท์นี้เกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้วใช้เรียกคนที่มีหนังสือกองไว้เป็นตั้ง ๆ เต็มบ้าน แม้ไม่ได้ตั้งใจจะสะสมหนังสือ แต่ด้วยความรักหนังสือ รักการอ่านหนังสือ ก็เหมือนเป็นคนสะสมหนังสือไปโดยปริยาย
ทางฝั่งของสกอตแลนด์ก็พบว่า ผู้ที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้โดยไม่มีหนังสือใส่กระเป๋าเสื้อออกไปด้วยหรือผู้ที่จะต้องมีหนังสือติดตัวไปตลอดเวลานั้นเรียกว่า บุ๊ก-โบโซเมด (BOOK-BOSOMED) โดยคำนี้ถูกปรากฎเป็นครั้งแรกในบทกวีที่โด่งดังในปี 1805 The Lay of the Last Minstrel ของนักประพันธ์และกวีชาวสก็อตเซอร์ วอลเตอร์ สก๊อตต์ (Sir Walter Scott)
ขณะที่ เฮนรี หลุยส์ เมนเคน (H.L.Mencken) นักข่าวชาวอเมริกันผู้มีอิทธิพลและมีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1920 ได้กล่าวถึงผู้ที่อ่านหนังสือมากเกินไปจนเปรียบเสมือนผู้มัวเมาในตัวอักษรว่า BIBLIOBIBULI ขณะที่ยุคนั้นผู้ชายมักจะมัวเมาไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือศาสนา จนทำให้คนเหล่านี้เดินผ่านโลกที่น่าตื่นเต้นไปโดยไม่ได้เห็นและได้ยินอะไรเลย
ฝั่งประเทศไทย เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า หนอนหนังสือ ซึ่งมักใช้เรียกคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ๆ ซึ่งที่จริงแล้วหนอนหนังสือนั้นมีอยู่จริงในธรรมชาติโดยใช้เรียกแมลงที่มาทำรังในหนังสือแล้วออกลูกเป็นตัวหนอนกัดกินปก และเนื้อในจนเป็นรูเสียหาย เมื่อโตเต็มวัยแมลงชนิดนี้จะมีปีกบินได้ ซึ่งมีวิธีป้องกันหนอนหนังสือง่าย ๆ เพียงแค่หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่านบ่อย ๆ แมลงก็จะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแล้วหนีไปเอง เพราะอย่างนี้คนที่ชอบอ่านหนังสือ ใช้ชีวิตทั้งวันอยู่กับกองหนังสือ จึงถูกเรียกเปรียบเทียบว่าเป็นหนอนหนังสือ ขณะเดียวกันคนไทยยังมีความรู้สึกกับคนที่เป็นหนอนหนังสือไปในทิศทางที่ดีทำนองว่าเขาเหล่านี้ น่าจะเป็นคนขยัน ฉลาด มีความรู้มาก เพราะอ่านหนังสือมาก
มาสัมผัสบรรยากาศที่คนรักหนังสือหลงรักกันได้ใน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25” (Book Expo Thailand 2020) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Noกองดอง” ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และเว็บไซต์ www.ThaiBookFair.com ติดตามรายละเอียดได้ทาง Fanpage: Thai Book Fair
ข้อมูลบางส่วนจาก : https://www.huffpost.com/entry/10-words-every-book-lover-should-know_b_5297284