By a publicist 23 กันยายน 2563
ในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนที่มีมากขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี ความสะดวกสบายด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนตามไปด้วย รวมถึงพฤติกรรม “การอ่าน” ที่หลายฝ่ายมองว่าจะถูกดิสรัปต์ (Disrupt) ด้วยความก้าวหน้าเหล่านี้ แต่จากผลสำรวจการอ่าน ปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ที่ได้สำรวจไปนั้นพบว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2558 ที่อ่านเพียง 66 นาทีต่อวัน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีและเป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสือเล่มยังเป็นที่นิยมต่อนักอ่านในทุกวัย แต่ไม่ว่าจะเป็นการอ่านในรูปแบบใดก็ตามเป้าประสงค์คงไม่ได้อยู่ที่อ่านมากหรือน้อย แต่เป็นการอ่านอย่างมีคุณภาพและใช้การอ่านเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายของชีวิตได้ จากงานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Noกองดอง” เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีนักอ่านผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้แนวทางและข้อคิดสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาการอ่านของตัวเอง
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของฉายา The Disruptor เมืองไทย เล่าว่า “เป็นคนชื่นชอบการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก มีหนังสือสะสมไว้นับหมื่นเล่ม มีความเชื่อว่าการอ่านสามารถนำไปสู่อนาคตที่ดีได้ เพราะสิ่งที่ได้รับจากการอ่าน สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นข้อคิดหรือเทคนิคต่าง ๆ สามารถนำมาพัฒนาการทำงานต่อได้ ซึ่งการจะอยู่รอดในยุคแห่งการพัฒนาแบบนี้ต้องรู้จัก “อ่านให้มาก” เพื่อสะสมความรู้ที่หลากหลาย นำมาต่อยอดสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ หรือมองหาโอกาสใหม่ๆ โดย “ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม” แต่ผู้อ่านต้องสามารถบอกได้ว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการจะสื่อสารอะไร หรือการทำความเข้าใจในขณะที่กำลังอ่านอยู่ ซึ่งจะทำให้ได้รับความรู้ได้อย่างเต็มที่แม้จะมีเวลาอ่านน้อย”
ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ให้ความเห็นในฐานะพิธีกรและผู้ที่รับประสบการณ์จากการอ่านมาหลายด้าน ว่า “ส่วนตัวมองว่าการอ่านเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้เขียนได้รวดเร็วที่สุด ดังเช่นหนังสือประวัติศาสตร์ซึ่งจะสะท้อนว่าผู้เขียนมีมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้นสมัยนั้นอย่างไร หรือผู้เขียนอยู่ในสถานะใด การอ่านที่จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายในอนาคตได้ ควรเริ่มจากการ “อ่านและวิเคราะห์อย่างละเอียด” เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ประสงค์ดีที่สร้างข่าวปลอม (Fake news) ขึ้นมา ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย และ “ไตร่ตรอง” ถึงที่มาของข่าวหรือเรื่องราวนั้นๆ ให้ดีก่อนที่จะแชร์ต่อให้ผู้อื่น หากแชร์เรื่องราวที่ถูกต้องก็จะสร้างคุณประโยชน์แก่ผู้อ่านได้มาก กลับกันหากเรื่องราวที่ถูกแชร์ต่อไม่เป็นความจริงจนผู้อ่านนำไปทำตาม ก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน ที่สำคัญคือหากต้องการจะสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเยาวชนในบ้าน ควรจะทำเป็นแบบอย่างให้ดูก่อน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านอย่างจริงจัง”
ด้าน นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เล่าว่า “การอ่านเป็นการเติมเต็มความรู้ที่ดีที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปความรู้ที่เคยได้รับก็อาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ถ้าไม่ต้องการให้ความรู้เหล่านั้นสูญหายไปก็ต้องหมั่น “อ่านทบทวน” ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องอ่านแค่เพียงหนังสือประเภทวิชาการเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทใด หรืออ่านผ่านช่องทางใดก็ล้วนมีประโยชน์กับตัวผู้อ่านทั้งสิ้น ขณะเดียวกันหัวใจที่สำคัญของการอ่าน คือ “อ่านมีคุณภาพ” คืออ่านแล้วเกิดประโยชน์ ด้วยความคิดพิจารณาในทุกด้าน เช่นการเห็นเนื้อหาในโซเชียลมีเดียเพียง 2 บรรทัดก็อย่าเพิ่งตัดสินใจเชื่อ ควรหาข้อมูลประกอบให้รอบด้านเสียก่อน”
ได้เคล็ดลับการอ่านจากทั้ง 3 ท่านแล้ว ลองนำเทคนิคไปใช้เคลียร์กองดองที่บ้านให้ไว แล้วมาเพิ่มกองใหม่ ในงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25” (Book Expo Thailand 2020) วันที่ 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ชาเลนเจอร์2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และเว็บไซต์www.thaibookfair.com ติดตามรายละเอียดกิจกรรมภายในงานได้ทาง Fanpage: Thai Book Fair