จากข้อมูล Thai Startup Ecosystem 2019 review โดย Techsauce Thailand พบว่าสตาร์ทอัพไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 มีมูลค่าการลงทุนรวมที่เปิดเผยได้อยู่ที่ 97.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดูเหมือนจะมีแนวโน้มเติบโตยิ่งขึ้น
การเติบโตของสตาร์ทอัพมีความเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน การทำพีอาร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพแต่ละรายเป็นที่รับรู้ของตลาดและนักลงทุน และช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพได้สเกลอัพได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต
หลายคนถูกปลูกฝังแนวคิดที่ว่า สตาร์ทอัพควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่าย และไม่ควรทำอะไรที่ดูหรูหรา อู้ฟู่ ฟุ่มเฟือย และสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องทำพีอาร์ แต่จริง ๆ แล้วการมีกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก เพราะสตาร์ทอัพจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย และการพีอาร์ที่ดียังจะช่วยสร้างปีกที่แข็งแกร่ง และสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ในตลาดได้
entrepreneur.com ได้สรุป 5 เหตุผลทำไมสตาร์ทอัพจึงควรทำพีอาร์ ไว้ดังนี้
1.การระดมทุน
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพก็คือการระดมทุน แต่ปัญหาของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่นั่นคือ แม้จะมีศักยภาพมากมายแต่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนเลย ซึ่งทำให้นักลงทุนลังเลที่จะเทเม็ดเงินมาสานต่อจับมือทำธุรกิจร่วมกัน การทำประชาสัมพันธ์จะช่วยให้สตาร์ทอัพได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อที่เหมาะสมและดึงดูดนักลงทุนเพื่อการระดมทุนในที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสื่อที่ครอบคลุม และการสร้างชิ้นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือบทความที่เพียงพอที่จะจุดประกายหรือมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายและสร้างการรับรู้ พีอาร์เอเจนซี่สามารถช่วยถ่ายทอดเรื่องราวของสตาร์ทอัพในรูปแบบที่เหมาะสม หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่าการเริ่มโปรเจคท์ใหม่ ๆ ของสตาร์ทอัพ มีโอกาสเป็นข่าวได้ดีกว่าการออกสินค้าใหม่ของบริษัทขนาดกลางทั่ว ๆ ไปเสียอีก
2.การสร้างภาพลักษณ์
สตาร์ทอัพจำเป็นต้องมีพีอาร์เอเจนซี่ที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยในการฉายภาพที่ดีของบริษัทให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่สามารถเสริมสร้างและทำลายบริษัทได้ในเวลาเดียวกัน และภาพลักษณ์ยังส่งผลต่อยอดขายอีกด้วย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจซื้อหรือมีปฏิสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นเมื่อบริษัทหรือแบรนด์เหล่านั้นอยู่ในกระแสหรือมีภาพลักษณ์ที่ดี พีอาร์เอเจนซี่มีหน้าที่ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มสื่อต่างๆ เพื่อนำไปสู่การประชาสัมพันธ์เชิงบวก การได้รับความสนใจจากสื่อเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้จะอยู่รอดและเหนือกว่าคู่แข่งในตลาด ซึ่งพีอาร์เอเจนซี่สามารถช่วยให้คว้าโอกาสเหล่านี้ให้สตาร์ทอัพได้ดีกว่า
3. สร้างความน่าเชื่อถือ
เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ โลกของสตาร์ทอัพก็มีการแข่งขันสูง และต่อสู้เพื่อดึงดูดการลงทุนให้บริษัทของตัวเอง บางรายอาจใช้วิธีการซื้อโฆษณาไปเลย เพื่อสร้างความสนใจ แต่นั่นไม่ได้ทำให้สตาร์ทอัพนั้น ๆ ดูมีความน่าเชื่อถือในฐานะแบรนด์หรือองค์กร หากแต่เป็นบทความหรือข้อมูลสำคัญผ่านช่องทางของสื่อต่างหากที่จะเป็นเหมือนตราประทับจากบุคคลที่สามที่ทำให้บริษัทดูมีภาษีด้านความน่าเชื่อถือมากว่า
4.การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์
สตาร์ทอัพจำเป็นต้องใช้สกิลของพีอาร์เพื่อให้มีมุมมองการสื่อสารที่กว้างขึ้น เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าพีอาร์เอเจนซี่มีบทบาทสำคัญในการที่จะนำพาให้ลูกค้าต้องคิดนอกกรอบ และนำเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์เพื่อที่จะใช้ในการกำหนดประเด็นต่อสื่อมวลชน พีอาร์จะช่วยพัฒนาและผลักดันแนวคิดใหม่ๆ โดยนำเอาพื้นฐานของความต้องการของตลาด หรือกระแสสังคมในช่วงนั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าข่าวจะไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ ได้รับความสนใจจากสื่อ และนำไปสู่การเผยแพร่ข่าวอย่างครอบคุลม สตาร์ทอัพควรให้ความสำคัญกับแคมเปญหรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นที่จดจำของสื่อและผู้บริโภคสำหรับแนวคิดที่ล้ำสมัยแปลกใหม่
5.การควบคุมความเสียหาย
สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤต เช่น ความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ไม่พอใจอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการผลิตหรือในผลิตภัณฑ์บางอย่าง เป็นต้น แต่พีอาร์เอเจนซี่มีประสบการณ์ดีกว่าและได้รับการฝึกฝนมาเพื่อรับมือและป้องกันสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่วิกฤตซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจในระยะยาว พีอาร์เอเจนซี่ที่ดีจะมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและจัดเตรียมแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ในกรณีที่เกิดวิกฤต ให้สามารถควบคุมความเสียหายได้สูงสุดในเวลาที่น้อยที่สุด