ส่องงานดีไซน์แห่งอนาคตเพื่อการปรับตัว อยู่รอด เติบโต ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563


กลับมาอีกครั้งกับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” หรือ “Bangkok Design Week 2020” (BKKDW 2020) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ภายใต้แนวคิด “Resilience: New potential for living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต” ซึ่งร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า  60 หน่วยงาน นักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย ระเบิดไอเดียสุดสร้างสรรค์สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างความปลอดภัยและสร้างสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การร่วมมือกัน จนกลายเป็นเมืองที่มีความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์ ผ่านนิทรรศการสุดสร้างสรรค์ทั้งงานศิลปะ งานเสวนา แนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เมือง รวมไปถึงงานตลาดนัดครีเอทีฟที่น่าสนใจ ในพื้นที่ 4 ย่านสร้างสรรค์ เจริญกรุง-ตลาดน้อย สามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ตอกย้ำที่กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก 1-9 กุมภาพันธ์ นี้

หลุมหลบภัยทางอากาศ: Bangkok #Safezone Shelter ในสถานการณ์ที่ผู้คนต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่าง PM 2.5 ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้น CEA ได้ร่วมกับ Shma และ UNESCO: Bangkok City of Design ได้สร้างพื้นที่ทดลองให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยพิบัติทางอากาศ ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเซฟโซนสำหรับทุกคน โดยใช้ธรรมชาติเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นพืชสีเขียว ลม และ น้ำ ร่วมกับเทคโนโลยีการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต้อนรับให้ทุกคนเข้ามานั่งพักสูดอากาศให้เต็มปอดก่อนออกไปสู้กับสงครามทาง(คุณภาพ)อากาศในเมืองด้านนอก จัดแสดงบริเวณลานจตุรัสไปรษณีย์ บางรัก

Everlasting Forest by GC             ในบริเวณใกล้กันจะได้พบกับนิทรรศการที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและธรรมชาติที่อยู่รอบตัว นำเสนอโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกวัสดุที่มีกระบวนการผลิตและติดตั้ง ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ใช้วัสดุที่นำมาใช้ซ้ำได้เพื่อลดปริมาณขยะ หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์ผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างสมดุลนั้นเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

Made in Charoenkrung (เมด-อิน-เจริญกรุง) ในย่านที่เต็มไปด้วยธุรกิจเก่าแก่และช่างฝีมือดั้งเดิม บางเจ้ามีอายุกว่า 100 ปี บางเจ้าเหลือเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หากปรับตัวไม่ทันธุรกิจเหล่านี้คงหายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ที่ต่อยอดสินทรัพย์อันมีคุณค่าของย่านเจริญกรุง เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของ 11 ธุรกิจดั้งเดิมในย่านที่ได้ 10 นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ ใช้ไอเดียในการต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตและปรับให้เข้ากับบริบทของโลกยุคใหม่ อาทิ "เฮงเส็ง" บ้านเย็บหมอนไหว้เจ้าอายุ 80 ปี เจ้าสุดท้ายในชุมชนตลาดน้อย, บ้านทำตราตั้งองค์ครุฑ เจ้าแรกเจ้าเดียวในย่านเจริญกรุง, "เอี๊ยะแซ" ร้านยาดมสมุนไพรจีนอายุกว่า 100 ปี และ "นิวเฮงกี่" ร้านอาหารจีนโบราณเก่าแก่ 60 ปี เป็นต้น

Portrait of Charoenkrung หลายปีที่ผ่านมา “เจริญกรุง” เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตึกเก่าและธุรกิจเก่าแก่เริ่มหายไป จนวันนี้ หลายคนบอกว่า เจริญกรุงที่เคยรู้จักจากไปแบบไม่มีวันหวนกลับ กลับกลายเป็นย่านฮิปที่ใครๆ อยากมาถ่ายภาพ แต่จะทำอย่างไรให้ภาพที่ถ่ายไปนั้น ทำหน้าที่ได้มากกว่าภาพที่ดูสวย แต่ยังสามารถเล่าเรื่องราวของเจริญกรุงได้ และมีคุณค่าสำหรับคนทั่วไป และที่สำคัญมีความหมายสำหรับคนในย่านเอง โปรเจค “Portrait of Charoenkrung” โดย Sungkrohsang, CEA & Neighbors จึงเกิดขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากศาสตร์และวงการถ่ายภาพเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับย่านและชุมชน โดยจะบันทึกเรื่องราวของเจริญกรุงในปี 2563 นี้ ผ่านประสบการณ์ของ นาย/นาง/นางสาว/เด็กหญิง/เด็กชาย “เจริญกรุง” เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าของ “เจริญกรุง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ สังคม ครอบครัว วิถีชีวิต อาชีพ ธุรกิจ และวัฒนธรรมในแง่มุมที่มีคุณค่าแต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน และถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และเก็บรักษาปัจจุบัน ไปพร้อมกับการทำนายทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมไปถึงทำให้คนในย่านได้ปรับตัว เรียนรู้ที่จะอยู่รอดในย่านนี้ร่วมกัน และเติบโตไปด้วยกันในโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน   Creative District Tour ชวนเดินสำรวจเรื่องราว บรรยากาศ วิถีชีวิตของผู้คนบนถนนเจริญกรุงอย่างลึกซึ้งกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่โดนใจไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ใน ถึง 4 ทัวร์ อาทิ “ทัวร์เจริญใจ จะทำอะไรก็เจริญ เจริญ” ที่จะพาไปร่วมเจริญหู เจริญตา เจริญพุง และเจริญใจไปในย่านเจริญกรุง ทัวร์เดียวที่จะพาไปสัมผัสเอกลักษณ์และเรียนรู้การเติบโตของย่านเจริญกรุงอย่างครบรส, “กรุง-เทศ” ชวนไปสำรวจเรื่องราว ‘นานาชาติ’ ผ่านเรื่องเล่าของ ‘คนเทศ’ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คนกรุง’ และช่วยเติมเต็มให้ ‘เจริญกรุง’ กลายเป็นย่านที่จัดจ้านและกลมกล่อม, “PORT CITY: เมืองไทย เมืองท่า”  นําเสนอย่านเจริญกรุงอีกมุมมองหนึ่งในฐานะภาพสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีพลวัตเสมอมานับแต่อาณาจักรอยุธยาจนถึงภายหลังการสถาปนากรุงเทพมหานคร และ “Moments in Charoenkrung”  เปิดประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว ด้วยการบันทึกภาพประทับใจผ่านการวาดภาพลายเส้นและสีน้ำกับ Louis Sketcher นักวาดภาพประกอบและศิลปินบันทึกเมือง

Haus Of Everything อีกหนึ่งเทศกาลที่แสดงถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่จัดแสดง ณ โกดังบ้านเลขที่ 1 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Print is not Dead” ที่จะตะโกนบอกทุกคนว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย ด้วยฝีมือของ หมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ดีไซเนอร์ที่มีไอเดียจัดจ้าน ทำงานมาหลากหลายประเภท ทั้งงานกราฟฟิกดีไซน์ สถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน ไปจนถึงงานนิตยสาร ทั้งยังได้ดีไซเนอร์ที่มีความรักในสิ่งพิมพ์เหมือนกันกว่า 50 คนมาออกแบบสิ่งพิมพ์ ไม่จํากัดสไตล์และรูปแบบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งพิมพ์ยังมีคุณค่าและมีความสําคัญ เมื่อถูกนําเสนอและประยุกต์ใช้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร   Streetscape 2 ผลงานทดลองเพื่อแก้ไขประสบการณ์เดินเท้าในย่านเจริญกรุง โดย P. LIBRARY DESIGN STUDIO ซึ่งต่อยอดจากปีที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้จริงแบบถาวร สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับทั้งคนในย่านและคนนอกย่าน ส่วนปีนี้จะกลับมาพร้อมกับ Camera 2020 ที่นำเสนอ “การ ออกแบบระบบการนําทางรูปแบบใหม่ (wayfinding)” ที่ประกอบไปด้วย ภาพวิดีโอของสถานที่ในซอยเจริญกรุง และระบบการดึงข้อมูลการแสดงผลค่า PM 2.5 สภาพอากาศบริเวณรอบพื้นที่เจริญกรุง รวมไปถึงแสดงข้อมูลงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ2563 พร้อมเพิ่มไอเดียสนุกด้วยการทดลองทำป้ายบอกทางที่พื้น ที่จะทำให้ตลอดการเดินในย่านไม่หลงทางอย่างแน่นอน  

7 Wonders of Business Resilience ประสบการณ์: ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต นอกจากนิทรรศการและอินสตอลเลชั่นที่น่าสนใจ ยังมีกิจกรรมเสวนาจุดประกายความคิดโดยนักคิดนักสร้างสรรค์ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและยืนหนึ่ง ในหัวข้อ “ปรับตัว” “อยู่รอด” และ “เติบโต” ของ 7 ธุรกิจ จากแบรนด์ต่างๆ ที่คุ้นเคยแต่ไม่เคยรู้เรื่องราวเบื้องหลังมาก่อน อาทิ a piece(s) of paper, Super Lock และ Micron Ware, Ta.Tha.Ta, บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด, Naraya, บริษัท บ้านส้มตำกรุ๊ป จำกัด และ น้ำอบปรุงเจ้าคุณ เป็นต้น ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4 TCDC กรุงเทพฯ   Bangkok Design Week 2020 Powered by PechaKucha การนำเสนอแนวคิดไอเดียสนุกๆ ผลงานผ่านรูปภาพ 20 ภาพ x 20 วินาที ปีนี้มาในธีม "Sharing unique experience to create the new potential for living" โดยผู้ร่วมโชว์ไอเดียต่างเป็นนักสร้างสรรค์ที่น่าจับตามอง และเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ  นทธัญ แสงไชย Podcast station director จาก Salmon Podcast พ็อดคาสท์ชาแนลใหม่ในเครือ Salmon ที่รับประกันว่าคอนเทนต์นั้นจะมีความมัน สด อร่อย, กตัญญู สว่างศรี Stand-up Comedian, พงศ์เทพ อนุรัตน์  จาก Dropkick Design Co. ดาราตลกผู้มากความสามารถแต่มีอาชีพหลักคือดีไซน์ ไดเร็คเตอร์ ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการออกแบบให้กับนิตยสารในเครือ day poets, เปรม พฤกษ์ทยานนท์ จากเพจ"ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป" และผู้ชนะการแข่งขันจากกิจกรรม Clean Energy in Daily Life Powered by PechaKucha เป็นต้น ในวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 15.00 น. - 18.00 น. ณ ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4 อาคารส่วนหน้า TCDC กรุงเทพฯ   

Creative Market ตลาดนัดสร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสในการขายสินค้าและการขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการเก่าและใหม่ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และพบกับ Pinkoi Market in Bangkok 2020 ที่รวบรวมงานดีไซน์กว่า 50 สตูดิโอ จาก ไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมชมโชว์รูมแสดงงานดีไซน์เพื่อการใช้ชีวิตแบบ Eco-Living และ Smart Life Living ร่วมเวิร์คช้อปศิลปะที่จะช่วยเสริมแรงบันดาลใจจากดีไซน์เนอร์ไทยและต่างชาติ ตลอดเส้นทางของลานจตุรัสไปรษณีย์ และ Warehouse 30 (โกดัง 7-8) ยิ่งไปกว่านั้นปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ได้ผนึกกำลังกับย่านสร้างสรรค์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดานักออกแบบสร้างสรรค์ อย่างสามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ที่ร่วมกันเปลี่ยนย่านเหล่านี้ให้เป็นงานเทศกาลสุดสร้างสรรค์ อาทิ ThongEk Creative Neighborhood โดย Eakamai & Friends ภายใต้แนวคิด “เพื่อนบ้านสร้างสรรค์” โดยเน้นให้ผู้คนทุกกลุ่มภายในย่านร่วมมือกันทำกิจกรรม ตอบโจทย์อัตลักษณ์อันผสมผสานระหว่างความเก่าแก่ ประวัติศาสตร์ และธุรกิจคลื่นลูกใหม่ และ The making of Tinkering Pot: Ari-Pradipat Creative District โดย TINKERING POT นิทรรศการที่แสดงข้อมูลที่มา วัตถุประสงค์ โครงการของย่านสร้างสรรค์อารีย์-ประดิพัทธ์ และการเปิดสตูดิโอสร้างสรรค์ (Open Studio) กว่า 40 สตูดิโอ เป็นต้น   “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” (BKKDW 2020) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-9  กุมภาพันธ์ 2563 ณ เจริญกรุง-ตลาดน้อย, สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมดีๆ ภายในงานได้ทาง Website : www.bangkokdesignweek.com Facebook : BangkokDesignWeek  Instagram : bangkokdesignweek #BKKDW2020 และ #bangkokdesignweek

Tags: เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563Bangkok Design Week 2020 BKKDW 2020 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เจริญกรุง ตลาดน้อย