ธุรกิจไมซ์ไทยปี 62 แนวโน้มสดใส ไตรมาสแรกยอดนักเดินทางไมซ์ไทยและเทศรวมกว่า 6,600,000 คน


12 กุมภาพันธ์ 2562 กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ สรุปผลการดำเนินงานไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2562 เผยไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ที่สำคัญ โดยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ในและต่างประเทศรวมกว่า 6,653,524 คน สร้างรายได้กว่า 42,525 ล้านบาท ด้านไมซ์ต่างประเทศกลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติขยายตัวก้าวกระโดด ขณะที่จีนยังครองอันดับหนึ่งของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่มาไทยมากที่สุด

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ เปิดเผยถึงผลตัวเลขตลาดไมซ์ต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. - ธ.ค. 2561) ว่า มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามายังประเทศไทย 241,407 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.48 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมายังประเทศไทยทั้งหมดในไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2562 สร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวม 18,031 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ค่าที่พัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้าและของที่ระลึก   

“กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนนักเดินต่างประเทศขยายตัวอย่างน่าสนใจ คือ การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) ขยายตัวร้อยละ 60.66 อันเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ โดยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และความเชื่อมั่นของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเร่งทำการตลาดของหน่วยงานภาครัฐและการดำเนินการกระตุ้นการเดินทางของภาคเอกชน มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาซึ่งเอื้อต่อการเดินทางมาประเทศไทยของกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ จีน อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น รวมถึงบรรยากาศภายในประเทศที่เอื้อต่อการเดินทางการเปิดเส้นทางการบินจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมาไทยมากขึ้น และความสามารถบริหารจัดการของสายการบินและสนามบินที่ส่งผลให้ท่าอากาศยานหลักสามารถรองรับนักเดินทางได้ดีขึ้นด้วย” 

จากข้อมูลพบว่านักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศสูงสุด 5 อันดับ ล้วนเป็นนักเดินทางธุรกิจจากเอเชีย ได้แก่ จีน 85,498 ราย ลาว 29,547 ราย มาเลเซีย 21,352 ราย อินโดนีเซีย 21,051 ราย และญี่ปุ่น 19,205 ราย ซึ่งนักเดินทางไมซ์จากภูมิภาคเอเชียมีความสำคัญหรือมีสัดส่วนสูงที่สุดของกิจกรรมไมซ์นานาชาติทุกประเภทที่จัดในประเทศไทย เหตุผลสำคัญ คือ เทรนด์โลกด้านการเดินทางเป็นการเดินทางระยะสั้นภายในภูมิภาค ประเทศเพื่อนบ้านใช้เวลาเดินทางมาไทยน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคอื่นๆ และมาตรการของรัฐบาลในการส่งเสริมการขาย อาทิ การยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา เป็นต้น 

ด้านจำนวนการจัดงานไมซ์นานาชาติในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 275 งาน จำแนกเป็นการประชุมสัมมนา (Meetings) 37 งาน การจัดงานอินเซนทิฟหรือการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) 153 งาน การประชุมนานาชาติ (Conventions) 16 งาน และการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibitions) 19 งาน โดยการจัดอินเซนทิฟให้กับพนักงานขององค์กร มีจำนวนงานสูงสุดมากกว่าครึ่งหนึ่งของการจัดงานทั้งหมด ด้านความนิยมจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยของต่างชาตินั้นนับได้ว่า ภาคกลาง เป็นสถานที่สำคัญที่สุดสำหรับการจัดงานไมซ์นานาชาติทุกประเภท โดยมีการจัดงานคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 82.18 โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพราะศูนย์ประชุม โรงแรมสำหรับการประชุมหรือการจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการที่มีขนาดใหญ่และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนและได้มาตรฐานสากล ซึ่งหลายแห่งได้รับการรับรอง Thailand MICE Venue Standard (TMVS) มีห้องประชุมสัมมนาหลายขนาดที่เหมาะสมสำหรับการจัดประชุมทุกขนาดและทุกระดับ รวมถึงความสะดวกด้านการเดินทาง ตลอดจนกิจกรรมในการพักผ่อนหย่อนใจภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุม รองลงมาเป็น ภาคใต้ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 9.09 และภาคเหนือ ร้อย ละ 6.18

ด้านข้อมูลตลาดไมซ์ในประเทศ มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศเดินทางในไตรมาสแรกจำนวน 6,412,117 ราย ก่อให้เกิดรายได้ 24,494 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีนักเดินทางไมซ์ในประเทศสูงสุดตามลำดับ 5 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และขอนแก่น

นายจิรุตถ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลงานเด่นในการส่งเสริมการตลาดและพัฒนาธุรกิจไมซ์ตามนโยบายรัฐบาลในไตรมาสแรกภายใต้ 3 เป้าหมายยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้  

การสร้างรายได้ เช่น การสนับสนุนการจัดงาน และประมูลสิทธิงานไมซ์ต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย (Event Support/Subsidy and Bidding) ทั้งสิ้นจำนวน 119 งาน  โดยสนับสนุนงานเด่น เช่น การประชุมสัมมนาของกลุ่มอินเซนทิฟ ประเทศจีน 2018 Sunhope Thailand Incentive Group นำนักธุรกิจขายตรงของจีนมาร่วมกว่า 10,000 คน การประชุมนานาชาติ BNI Global Convention 2018 ของสมาชิกจากทั่วโลกกว่า 4,000 คน โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมางานประชุมนี้จัดขึ้นที่อเมริกา แต่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นประเทศแรก เพราะศักยภาพของประเทศและนักธุรกิจไทย รวมถึงงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและการประชุมพลังงานเพื่ออนาคตแห่งเอเชีย Future Energy Asia 2018 ที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 8,000 คน 

การกระจายรายได้สู่ภูมิภาค เช่น การสนับสนุนการจัดงาน ยกระดับงาน และสร้างงานไมซ์ในประเทศไทย (Event Support/Subsidy and New Event) ทั้งสิ้นจำนวน 9 งาน เช่น การสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ครั้งที่ 33 และการประชุมสามัญประจำปี 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จ. ชลบุรี  การยกระดับงานเทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง” เพื่อกำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ไมซ์ซิตี้จังหวัดเชียงรายในฐานะเมืองแห่งการเรียนรู้ด้านการบริการจัดการเป็นเลิศ ศูนย์รวมโครงการหลวงของภาคเหนือ และการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่งานข้าวหอมมะลิโลก RICE Expo 2018 จ. ร้อยเอ็ด รวมถึงการขยายการส่งเสริมตลาดไมซ์ในประเทศและขยายตลาดในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS/CLMV/SEZ) จำนวน 8 งาน เช่น การจัดประชุมสัมมนาของบริษัทประกัน Prudential ประเทศเวียดนาม และการจัดประชุมสัมมนาของผู้ผลิตสินค้าปุ๋ย Armo Fertilizer ประเทศเมียนมาร์ เป็นต้น

การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม เช่น การจัดประชุมมาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียนครั้งที่ 7 โดยมีผู้แทนจากสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 7 ประเทศ การจัดสัมมนาด้านข้อมูลและนวัตกรรมไมซ์ MICE Intelligence and Innovation Conference สร้างความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมไมซ์ และการอำนวยความสะดวกการเข้าเมืองของนักเดินทางไมซ์เข้าสู่ประเทศไทยจำนวนถึง 45 งาน (MICE Lane) เป็นต้น

ด้านแผนงานต่อเนื่องในปีนี้ ทีเส็บยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลที่สอดคล้องกับการดำเนินงาน 2 ยุทธศาสตร์ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางบริหารงานไมซ์แบบบูรณาการอย่างเท่าเทียมและโปร่งใส โดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและเชื่อมโยงการพัฒนาไมซ์ในทุกระดับกระจายไมซ์สู่ภูมิภาคทั่วทุกพื้นที่ วางยุทธศาสตร์ด้านพื้นที่ในเมืองหลักไมซ์ซิตี้ (กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น) และกระจายไมซ์สู่เมืองรองทั่วประเทศ พร้อมตอบโจทย์ด้วย 8 ไฮไลท์โครงการไมซ์เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1.      พัฒนา 25 เส้นทางไมซ์ใน 5 เมืองไมซ์ซิตี้ และกระจายสู่เมืองรองอีก 5 เมือง รวมพัฒนาเส้นทางไมซ์ไม่ต่ำกว่า 50 เส้นทาง ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) อพท. และผู้ประกอบการสถานที่จัดงานทั่วประเทศ

2.      พัฒนาการศึกษาไมซ์ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการเครือข่ายการศึกษาไมซ์ ร่วมกับสถาบันการศึกษาหลักใน 5 ภูมิภาค

ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยดุสิตธานี

3.      พัฒนาโมเดลและแผนงานหลักไมซ์ซิตี้ 5 เมือง ร่วมกับจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน  

4.      โครงการไมซ์เพื่อชุมชน ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขยายความร่วมมือกับสหกรณ์จาก 30 แห่ง ให้เป็น 100 แห่ง ส่งเสริมให้สหกรณ์เป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนา และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมทำกิจกรรมไมซ์สร้างเศรษฐกิจกระจายรายได้ให้กับชุมชน

5.      โครงการแข่งขันโปรโมทไมซ์ภูมิภาค ร่วมกับ สถาบันการศึกษาของผู้บริหารระดับสูงจากทุกภาคส่วน หน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐ เอกชนและกิจการเพื่อสังคม ตลอดจนเครือข่ายมหาวิทยาลัย

6. โครงการส่งเสริมการตลาดเพิ่มจำนวนงานไมซ์ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมของรัฐบาล ร่วมกับภาครัฐและเอกชน รวมถึงไทยทีมธุรกิจไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น สถานทูต ททท. สมาคม สมาพันธ์ หอการค้า สายการบิน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น

7.      โครงการพัฒนาข้อมูลอัจฉริยะและนวัตกรรมไมซ์ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นต้น

 

8.    โครงการประชุมรับฟังการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ด้วยคุณธรรมและความโปร่งใสของทีเส็บ ร่วมกับภาคเอกชนธุรกิจไมซ์

 “ภายใต้แผนการดำเนินงานและโครงการหลักในปี 2562 เจาะทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของทีเส็บ คาดว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 35,982,000 คน และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ประมาณ 221,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศประมาณ 1,320,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศได้ 100,500 ล้านบาท นักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศประมาณ 34,662,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 121,000 ล้านบาท” นายจิรุตถ์ กล่าวโดยสรุป 

Tags: ทีเส็บ TCEB MICE ไมซ์ ประชุม สัมมนา นักเดินทาง