เปลี่ยนจุดเจ็บเป็นจุดเจ๋ง ด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่


พลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจทุกอุตสาหกรรมต้องการ เพราะทำให้เกิดมุมมองและแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไป ดังเช่นคำกล่าวที่ว่าพลังเล็กก็สามารถเปลี่ยนโลกได้... อุตสาหกรรมไมซ์ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมองค์กร ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้านานาชาติ ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องพึ่งพาไอเดียคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นธุรกิจที่มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ทั้งนักธุรกิจไมซ์ชาวไทย-ต่างชาติ ผู้ประกอบการโรงแรม ออกาไนเซอร์ อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งทุกอีเว้นท์ที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดรายได้ การจ้างงาน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลใหม่ ซึ่งการมีนวัตกรรมเข้ามาช่วย จะทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก

นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย MICE Intelligence & Innovation สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บได้ร่วมกับศูนย์ Hatch มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี จัดกิจกรรม Smart MICE Innovation Awards 2018 เพื่อสร้างการเรียนรู้และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ โดยมีนักศึกษาทั้งหมด 18 ทีมจำนวน 65 คนจาก 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยเข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ นิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมนั้นได้มีโอกาสเรียนรู้และทดลองฝึกปฏิบัติจริงตามกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมทั้งประกวดการนำเสนอผลงานนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหรือจุดอ่อนของการจัดงานไมซ์อีเว้นท์ (Pain Point) ค้นหาความต้องการจริงของผู้เข้าร่วมงาน (Customer Insight) ว่าชอบอะไรในงาน เข้าร่วมกิจกรรมใดมากที่สุด มีความสนใจในเนื้อหาใด และต้องการให้มีอะไรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะการที่ไมซ์ไทยจะเติบโตได้ในอนาคตนั้นจะต้องมีข้อมูลเพื่อพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น และดึงผู้จัดงานตลอดจนผู้ร่วมงานกลับมาอีกครั้ง โดยควรเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานได้สะดวก และสามารถเก็บข้อมูลของการจัดงานได้

สำหรับหัวข้อที่ให้เลือกนั้น อาทิ Mega Event หรือ Major Event ที่มีการใช้พื้นที่ของเมือง พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ในศูนย์การค้าเป็นพื้นที่จัดงาน ซึ่งปัญหาของงานประเภทนี้คือมีทางเข้า-ออกงานหลายทาง ทำให้ยากต่อการจัดเก็บข้อมูลผู้ร่วมงาน ทั้งในข้อมูลด้านความต้องการ ความเห็นต่อกิจกรรมที่จัด เพื่อนำไปพัฒนาการจัดงานครั้งต่อไป และคำนวณตัวเลขของผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) ตลอดจนการจัดกิจกรรมไมซ์ภายในประเทศ (Domestic MICE) ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และเมืองที่มีศักยภาพรองรับการจัดงาน ซึ่งยังขาดการส่งเสริมด้านการตลาด โปรโมชั่นที่สร้างแรงจูงใจ ความยุ่งยากในการจัดการเดินทางและที่พักอย่างเหมาะสม ตลอดจนขาดข้อมูลสถานที่จัดกิจกรรมใหม่ๆ นอกเหนือจากเมืองที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว นอกจากนี้ การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Base) ที่ต้องอาศัยบริษัทผู้จัดงานที่มีความชำนาญ แต่ยังขาดแคลนอยู่มาก และ การพัฒนาศักยภาพด้านไมซ์ (MICE Capabilities) ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร สถานที่จัดงาน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งขาดบุคลากรที่มีความชำนาญในบางด้าน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นต้น  

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดได้ร่วมเวิร์คช้อปเป็นเวลา 3 วัน โดยมีคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ กระบวนการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง (Design Thinking & Problem Insights) และกระบวนการทดสอบตลาดและสร้างชิ้นงานต้นแบบ หลังจากนั้นเป็นการจัดแข่งขันการนำเสนอผลงาน เพื่อค้นหานวัตกรรมที่มีความโดดเด่นมากที่สุดทั้งในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ การตอบโจทย์ปัญหา หรือรูปแบบธุรกิจ ฯลฯ เป็นต้น โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ทีม Mäuse (ม๊อยส์เซอร์) เลือกแก้ปัญหา Mega Event ด้วยแพลทฟอร์ม Eventure ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 ทีมได้แก่ ทีม PPP มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เลือกแก้ปัญหา Domestic MICE ด้วยแอปพลิเคชั่น PlanGo  และทีม BU to the Future มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เลือกแก้ปัญหา Mega Event ด้วย E-Wristband

นายคริษฐ์  มัชปาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนจากทีม Mäuse เล่าว่า “ปัจจุบันนี้ คนเจนใหม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความโซเชียล มาเนีย (Social mania) ต้องการแสดงออกทางสังคม และต้องการค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง จึงเป็นที่มาของ Eventure แพลทฟอร์มที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับผู้เข้าร่วมงาน Mega event ในยุคต่อๆ ไป  โดยพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยบริษัทผู้จัดงานเก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมงาน สร้างแรงจูงใจเพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากให้ข้อมูลกับผู้จัดงาน รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานนั้นก็จะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเข้าร่วมงาน ผ่านการเล่นเกม ตอบแบบสอบถาม และแลกของที่ระลึกของงาน ซึ่งจะมีฟีเจอร์ต่างๆ อาทิ  QR Code เวบแอปพลิเคชั่น เทคโนโลยี AR ช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม และ Mood Tracking เพื่อทราบความรู้สึกของผู้ร่วมงาน เป็นต้น”

ด้าน นายพฤกษ์  ภคเมธาวี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนจากทีม PPP (Triple P) เล่าถึง แอปพลิเคชัน PlanGo ที่สร้างสรรค์แนวคิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ กลุ่มไมซ์ในประเทศ (Domestic MICE หรือ DMICE) ว่า “คอนเซ็ปต์ของ PlanGo คือ วางแผนการประชุมง่ายๆ กระจายรายได้สู่ชุมชน สำหรับการวางแผนการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meetings&Incentives) สำหรับองค์กรที่มีจำนวนผู้เข้าร่วม 50-100 คนครบวงจร และสร้าง ECOsystem ขึ้นภายในประเทศไทย โดยแต่ละฝ่ายจะได้ประโยชน์ คือ ส่วนผู้ใช้งาน (User) สามารถวางแผนจบได้ภายใน 1 วัน ส่วนของทีเส็บที่สามารถทราบกลุ่มเป้าหมายได้ คือ สามารถโปรโมทแคมเปญเพื่อให้ผู้ใช้งานมาใช้ ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของข้อมูล และได้รู้ว่าควรจะสร้างอะไรตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น ในส่วนของบริษัทผู้จัดงานก็จะได้ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

PlanGo จะมีส่วนต่างๆ ที่ให้ผู้ใช้บริการกรอกข้อมูลที่ต้องการ ตั้งแต่จุดหมายปลายทาง จำนวนผู้เดินทาง ต้องการร่วมกิจกรรมแบบใด เน้นสถานที่แบบใดเป็นพิเศษ สามารถตรวจสอบสิทธิพิเศษที่จะได้รับสำหรับการเดินทางครั้งนี้ วิเคราะห์และนำเสนอแพลนและราคาที่เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการ พร้อมเปรียบเทียบในรูปแบบอื่นๆ ให้ทราบด้วย ที่สำคัญคือมีฟีเจอร์ที่จะแนะนำรูปแบบกิจกรรมที่จะกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นในงบประมาณที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นทางเลือกขององค์กรด้วย และสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่นจะได้เอกสารสำเร็จ (Proposal) เพื่อนำเสนอต่อองค์กรได้เลย”  

ส่วน นายประวรรธน์  เลิศอริยบวรสุข คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตัวแทนจากทีม BU to the Future ผู้นำเสนอไอเดีย "E-Wristband" เล่าว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้จะเน้นการนับจำนวน (Tracking) ผู้เข้าร่วมงาน โดยฟังก์ชั่นการใช้งาน คือ หลังจากผู้เข้าร่วมงาน Mega Event ใดๆ ก็ตามลงทะเบียนก่อนเข้างานแล้วจะได้รับ E Wristband ที่จะมีลักษณะที่แบ่งตามแนวคิดของแต่ละงาน สามารถสแกน QR Code ผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อให้ได้รับรายละเอียดกำหนดการ แผนที่ในงาน ส่วนลดของบูทต่างๆ ภายในงาน โดยเทคโนโลยีหลักที่ใช้คือ RFID (Radio Frequency Identification) ในแต่ละบูทจะมีตัวรับสัญญาณสแกน E-Wristband เพื่อนับจำนวนคนที่เข้าไปชม หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะนำมาวิเคราะห์และส่งต่อให้กับบริษัทผู้จัดงานเพื่อนำไปพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อๆ ไปได้

นางจารุวรรณ  กล่าวสรุปภาพรวมผลงานวัตกรรมจากความคิดของน้องๆ คนรุ่นใหม่ว่า “แนวคิดของคนรุ่นใหม่หลายทีม โดยเฉพาะทีมผู้ชนะนั้น ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจไมซ์ในกลุ่มที่เลือกได้ดี สามารถนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมได้จริง ซึ่งทีเส็บมีแผนในการสนับสนุนเพื่อให้ทีมพัฒนาต่อจนเกิดเป็นแพลทฟอร์มสำเร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการและธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยต่อไป” 

Tags: ทีเส็บ นวัตกรรม innovation เยาวชน pain point คนรุ่นใหม่