มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ สานต่อโครงการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะชีวิตเยาวชน จัดค่าย“อรุณเบิกฟ้า ภาษาพาเพลิน ก้าวเดินสู่ศตวรรษที่ 21”นำเยาวชนจากโรงเรียนบ้านปิใหญ่ และตูแตหรำ จ.สตูล ร่วมกิจกรรมเพิ่มทักษะให้เยาวชนใต้ อ่าน-เขียน-คิด-สื่อสารภาษาไทย ได้สอดคล้องกับช่วงวัย ผ่านการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เสริมทักษะให้เยาวชนพร้อมก้าวเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21อย่างสมบูรณ์แบบ
ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล ผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เป็นองค์กรการกุศลที่ริเริ่มและสนับสนุนโดยบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้งสององค์กรมีการดำเนินภารกิจที่ต่างกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือการมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม โดยมูลนิธิมุ่งเน้นการ "มอบความรู้ สู่คุณภาพชีวิตที่ดีมีสมดุล” (Promoting Wellness Literacy) สำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยการบูรณาการศักยภาพและความเชี่ยวชาญกับพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาที่ยึดถือคุณค่าร่วมกัน ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะชีวิตที่จำเป็นของเด็ก (Reading and Essential Life Skill Development Project) เป็นโครงการที่มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ดำเนินงานเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านของเด็กและเสริมสร้างทักษะชีวิตที่จำเป็น เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน หลังจากพบว่ามีเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี ในพื้นที่ชนบทเป็นจำนวนมากมีทักษะการอ่านและการสื่อสารต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ทักษะการอ่านที่เพิ่มพูนจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กๆ โดยมูลนิธิฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล จึงเลือกโรงเรียนบ้านปิใหญ่และโรงเรียนบ้านตูแตหรำในจังหวัดสตูลเป็นต้นแบบ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ผ่านกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะการใช้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงห้องสมุด และเพิ่มจำนวนหนังสือที่น่าสนใจและเหมาะสมกับเด็ก การเสริมทักษะด้านการอ่านภาษาไทยหลังเลิกเรียน ค่ายพัฒนาภาษาไทย ค่ายทักษะชีวิต และทัศนศึกษา โดยโครงการนี้จะสิ้นสุดในปี 2560 โดยมีเยาวชนจากโรงเรียนบ้านปิใหญ่และโรงเรียนบ้านตูแตหรำในจังหวัดสตูลโรงเรียนเป็นต้นแบบ จำนวน 138 คน (จำนวนเมื่อเริ่มโครงการ)
“ค่ายพัฒนาทักษะภาษาไทย ครั้งที่ 4 “อรุณเบิกฟ้า ภาษาพาเพลิน ก้าวเดินสู่ศตวรรษที่ 21” นี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการฯ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากกิจกรรมค่ายทักษะพัฒนาชีวิต ซึ่งได้ดำเนินงานมาแล้วจำนวน 5ครั้ง โดยกิจกรรมทั้งหมดมุ่งหวังให้เด็กมีการ พัฒนาทักษะชีวิต และการพัฒนาทักษะภาษาไทย ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และสามารถ ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ร่วมไปถึงสามารถคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ ทั้งยังสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ยังต้องการให้เด็กนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาตนเองและถ่ายทอดไปสู่รุ่นน้องในระดับอื่นๆ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตและการศึกษาที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากที่น้องๆ เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้ง จะมีคณะทำงานร่วมติดตามพร้อมประเมินผล ก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียนทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสังเกตความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทย รวมถึงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะชีวิตที่ได้จากกิจกรรม ทั้งการตอบสนอง และแรงกระตุ้นของเด็ก เพื่อนำไปวิเคราะห์ และนำผลที่ได้ไปพัฒนาเด็ก รวมถึงพัฒนากิจกรรมให้สอดคล้อง เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในครั้งต่อไป”
ดร.กิตติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และมีการประเมินผลการดำเนินงานมาเป็นลำดับ พบว่า เด็กๆ มีพัฒนาการและมีศักยภาพที่สูงขึ้น เห็นได้จากการสังเกตพฤติกรรมภายในค่ายพัฒนาทักษะภาษาไทยครั้งที่ผ่านมาก พบว่า เด็กร้อยละ 76.50% มีพัฒนาการเกี่ยวกับทักษะภาษาไทยในระดับดีมาก สามารถแต่งประโยคบอกเล่าได้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย สามารถอ่านจับใจความ สะกดคำศัพท์ และเรียนรู้คำสุภาษิต คำพังเพย ได้เป็นอย่างดี และจากการประเมินพฤติกรรมพบว่า เด็กร้อยละ 98.80% สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นในการทำกิจกรรมกลุ่ม การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนต่างโรงเรียน และใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันได้ ซึ่งนับว่าเป็นแนวโน้มของพัฒนาการที่ดีที่เกิดขึ้นกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดสตูล และเชื่อมั่นว่ากิจกรรมในค่ายพัฒนาทักษะภาษาไทยครั้งที่ 4 นี้ จะช่วยต่อยอดและส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้นต่อไปอย่างยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมค่ายพัฒนาทักษะภาษาไทยครั้งที่ 4 นี้ จัดขึ้นภายใต้ชื่อ “อรุณเบิกฟ้า ภาษาพาเพลิน ก้าวเดินสู่ศตวรรษที่ 21” ณ ปากเมงรีสอร์ท จังหวัดตรังโดยมีเยาวชนที่เข้าร่วมเป็นนักเรียนกลุ่มเดิมตั้งแต่เริ่มโครงการ จึงอยู่ในระดับชั้น ป.4-ป.6 ซึ่งเนื้อหาที่นำมาใช้เป็นแกนหลักของการออกแบบกิจกรรม คือ การเรียนรู้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมทักษะด้านภาษาไทยให้เยาวชนพร้อมก้าวเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านกิจกรรมทั้งหมด 6 ฐาน ซึ่งในแต่ละฐานจะสอดแทรกองค์ความรู้ในมิติต่างๆ อาทิ ฐานสายย่อล้อความ มุ่งสอนให้เด็กสามารถอ่านหนังสือแบบจับใจความสำคัญ เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการทางความคิด ฐานนักล่าหาความรู้ เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ภาษาไทยที่สำคัญ และนำคำเหล่านั้นมาแต่งเป็นประโยคที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย และ ฐานแข่งขันเล่านิทานแบบกำหนดอุปกรณ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่งนิทานจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้รับ รวมไปถึงยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การทำงานเป็นทีม และมีความกล้าแสดงออก”
นอกจากกิจกรรมของฐานต่างๆ แล้ว ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญที่จะมาร่วมให้ความรู้และเปิดโลกทัศน์ให้กับเยาวชน ได้แก่ คณะหุ่นมัมมี่พัพเพ็ท (MOMMY PUPPET) ผู้เชี่ยวชาญการแสดงนิทานหุ่นสำหรับเด็ก ที่จะมาสอนวิธีการใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการแสดงนิทานหุ่นมือ พร้อมสอนเทคนิคการเล่าเรื่องราว ในหัวข้อ “เล่าอย่างไร โดนใจผู้ฟัง” เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการเรียบเรียงเนื้อหาการเล่าเรื่องโดยใช้ภาษาไทยให้เกิดความน่าสนใจ อีกทั้งเพื่อให้เด็กได้นำวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการเรียนตลอดจนการใช้ในชีวิตจริงต่อไป