ปัจจุบัน…ประเทศไทยของเรา ถูกพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ รวมไปถึงค่านิยมสมัยใหม่ ที่ยินดีเปิดรับจากต่างชาติให้เข้ามาผสมผสาน กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน จนทำให้เรื่องราวความงดงามแบบไทยดั้งเดิมอย่างศิลปะอาหาร งานฝีมือ วัฒนธรรมค่อยๆ ถูกลืมเลือนไปอย่างช้าๆ และกลายเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ร่วมกับ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ จัดกิจกรรม “ตลาดนัดภูมิปัญญาสร้างอาชีพ หรือ Wisdom Market” เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ภูมิปัญญาไทย ได้นำองค์ความรู้อย่างงานหัตถกรรม การทำอาหาร ที่สะท้อนถึงวิถีไทยดั้งเดิม มาร่วมถ่ายทอดไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญาของไทยสืบต่อไป
นางสุนันทา สมบุญธรรม ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ กล่าวว่า “ภูมิปัญญาของผู้สูงวัย ถือเป็นมรดกทางปัญญาอันล้ำค่า และเป็นต้นแบบของผู้มีภูมิปัญญาตามแบบวิถีไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ให้กลุ่มคนรุ่นหลังได้นำไปต้นแบบของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้นอกจากจะได้ช่วยอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทยดั้งเดิมแล้ว ยังถือเป็นการช่วยสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาสังคมผู้สูงอายุให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย”
นางเบญจวรรณ ไชยพิเดช อายุ 70 ปี เจ้าของร้านศิลปะเครื่องจักสานจากกระดาษรีไซเคิล ที่มาร่วมงานครั้งนี้ กล่าวว่า “ตั้งแต่อายุ 9 ปี ได้ถูกครอบครัวปลูกฝังเรื่องการถักสานมาตลอด พอโตขึ้นก็ได้นำความรู้ดังกล่าวมาสร้างเป็นอาชีพ โดยการนำวัสดุจากธรรมชาติ อย่างหวาย และไม้ไผ่ มาสานเป็น ตะกร้าผัก ผลไม้ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในครัวเรือน เพื่อจำหน่าย ซึ่งตอนนั้นได้รับความนิยมมาก แต่ในระยะหลังเริ่มขายไม่ค่อยดี อาจเป็นเพราะคนเริ่มหันไปใช้อุปกรณ์ครัวเรือนที่ทันสมัย ตามเทรนด์นิยมเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่มากขึ้น
ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดพัฒนารูปแบบการถักสานให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านที่ดูทันสมัย เข้ากับยุคปัจจุบัน โดยเปลี่ยนวัสดุมาใช้เป็นกระดาษ ซึ่งวิธีการทำนั้นไม่ยาก เพียงนำเอากระดาษเหลือใช้มาตัดตามยาว ทากาวแล้วพันรอบไม้ก้านมะพร้าว แล้วนำมาสานขึ้นรูปเป็นของต่างๆ อาทิ ตุ๊กตา กล่องเก็บเครื่องประดับ ถังขยะ เป็นต้น โดยกำหนดราคาตั้งแต่ 10 บาท จนถึงหลักพันบาท ทำให้ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่
สำหรับการถักสานนั้น ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของไทยเรามาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ได้ลองเข้ามาทำกิจกรรมตรงนี้ เพื่อช่วยกันสืบสานต่อไป อีกทั้งยังถือเป็นศิลปะที่สามารถปรับให้ดูทันสมัยได้ตามไอเดียของเรา”
ด้าน นายกุหลาบ สิริวรวงศ์กุล อายุ 72 ปี เจ้าของร้านตุ๊กตาโขน หัวโขนเล็ก กล่าวว่า “ศิลปะการทำหัวโขนเป็นศิลปะทรงคุณค่าของประเทศไทย อีกทั้งถือเป็นผลงานศิลปะที่รวมภูมิปัญญาไทยเอาไว้หลายแขนง ทั้งงานปั้น งานปิดทอง งานเขียนลาย ซึ่งผลงานตุ๊กตาโขน หัวโขนเล็กนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการทำหัวโขนที่ใส่ในการแสดงโขน แต่ปรับขนาดให้เล็กลง และยังคงความประณีตสวยงามแบบไทย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานต่าง ๆ อาทิ การทำเป็นของที่ระลึก หรือของตกแต่งบ้าน เป็นต้น
ผลงานตุ๊กตาโขน และหัวโขนเล็กเหล่านี้ ค่อนข้างได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างชาติ มีการสั่งซื้อจนผลิตไม่ทัน จึงอยากให้คนไทยหันกลับมามอง มาให้ความสำคัญกับศิลปะดั้งเดิมของเรา ช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวไทยทุกคน”
ส่วน นางสุภาพร เจตน์สมบูรณ์ วัย 68 ปี คุณครูผู้สอนวิธีการทำบายศรีผ้า กรมกิจการผู้สูงอายุ เล่าว่า “ “บายศรีผ้า” ถือเป็นผลงานศิลปะของไทยอีกแขนงหนึ่งที่ประยุกต์มาจากการทำ “บายศรี” ใบตองและดอกไม้ เพื่อให้เกิดความคงทนและแข็งแรง สามารถใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำขวัญคน การทำขวัญข้าว การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรี และพิธีสมโภชพระพุทธรูป เป็นต้น รวมถึงยังสามารถใช้เป็นของตกแต่งบ้านหรือโต๊ะหมู่บูชาเพื่อให้เกิดความสวยงามได้อีกด้วย
โดยวิธีการทำจะใช้ผ้าเป็นวัตถุดิบหลัก ผ้าสีเขียวใช้แทนใบตอง นำมาพับเป็นกรวยสามเหลี่ยมใช้เป็นฐานของบายศรี และใช้ผ้าสีเหลือง มาพันให้มีลักษณะเหมือนดอกดาวเรือง นำมาประดับบนยอดของบายสี เพื่อให้เกิดความสวยงาม จากนั้นมาวางลงบนพาน จัดแต่งให้สวยงามตามหลักบายศรีจริง และนำไปใช้งานในรูปแบบที่ต้องการได้ทันที”
นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายภูมิปัญญาของผู้สูงวัยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็น การทำตะลุ่ม เตียบ การร้อยลูกปัด การทำโมบายปลาตะเพียน การเรียนทำหมวก เป็นต้น ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าศึกษาและเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์