We Get We Give We Grow “รับเพื่อให้”ส่งต่อโอกาสดีๆ เพื่อสังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน


เพราะมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย (Pfizer Thailand Foundation หรือ PTF) เชื่อในคุณค่าของการปลูกฝังค่านิยม "รับเพื่อให้" หรือ Pay It Forward ในหมู่ผู้ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ มูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทยจึงได้จัดกิจกรรม PTF Alumni Networking ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนทุนด้วยกันเอง และกับมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย โดยพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า การสร้างเครือข่าย จะเป็นพื้นฐานที่ดีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ รวมทั้งการร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามต่างๆ ในอนาคต

ในปีนี้ กิจกรรมสานสัมพันธ์นักเรียนทุนมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย จัดขึ้นภายใต้แนวคิด We Get We Give We Grow  โดยนำนักเรียนทุนของมูลนิธิฯ ในคณะแพทย์ศาสตร์และเภสัชศาสตร์ ต่างรุ่น ต่างคณะ ต่างสถาบัน จากทั่วประเทศ จำนวน 55 คน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยแต่ละกิจกรรมได้รับการออกแบบให้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่เป้าหมายที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การมอบความสนุกและความทรงจำที่ดีเท่านั้น หากคือการที่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน รวมทั้งบุคลากรของมูลนิธิฯ จะมีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกัน ถึงประเด็นความท้าทายในแง่มุมต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ระหว่างกิจกรรม นักเรียนทุนต่างได้รับความรู้จากวิทยากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และเป็นผู้มอบแรงบันดาลใจดีๆ อาทิ นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาจุดประกายความคิดว่าการเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21 นั้น ควรคิดและทำอย่างไร เนื่องจากภารกิจทางด้านแพทย์และสาธารณสุขมีแง่มุมความท้าทายที่แตกต่างไปจากอดีต รวมทั้งรับฟังเรื่องราวสนุกๆ จาก “หมอเก๋อ” นพ.คัมภีร์ สรวมศิริ ผู้เขียนหนังสือ “หิมาลัยต้องใช้หูฟัง” ที่เริ่มต้นจากการตัดสินใจลางานหนึ่งเดือนเต็มเพื่อเข้าร่วมโครงการ Himalayan Health Exchange (HHE) ออกค่ายอาสาเดินสายตรวจรักษาชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลในเขตเทือกเขาหิมาลัย ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และนักศึกษาแพทย์ทั่วโลก สิ่งที่หมอเก๋อได้เรียนรู้และนำมาบอกเล่าให้น้องๆได้ฟังไม่ใช่แค่การดีใจที่ได้พบว่าหมอและเภสัชกรไทยมีพื้นฐานความรู้เรื่องการวินิจฉัยโรคและการสั่งยาที่ได้มาตรฐานทัดเทียมกับหมอจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกหรือบางครั้งยังเก่งกว่าด้วยซ้ำ แต่การได้ลองออกจากกรอบการทำงานเดิมๆ ไปทำสิ่งที่แปลกใหม่บ้าง ทำให้หมอเก๋อได้ตระหนักลึกซึ้งถึงปณิธานตั้งต้นเมื่อครั้งที่ตัดสินใจเรียนแพทย์ที่ว่า “อยากช่วยเหลือผู้อื่น” ได้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ นักเขียน นักคิด และบรรณาธิการนิตยสารชื่อดังอย่าง ทรงกลด บางยี่ขัน ที่นำประสบการณ์และกรณีศึกษาดีๆ จากทั่วโลกมาสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ของการปฎิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม โดยไม่จำเป็นต้องยึดกรอบปฎิบัติเดิมๆ 

นอกจากนี้ นักเรียนทุนยังได้สัมผัสประสบการณ์การเป็น “ผู้ส่งต่อโอกาส” หรือ Pay it Forward ซึ่งเป็นปณิธานสำคัญที่มูลนิธิฯ ต้องการปลูกฝังให้กับนักเรียนทุนทุกรุ่น ด้วยการรับอาสาเป็นพี่เลี้ยงพาน้องๆ จากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีไปเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ที่ ฮาร์บิน ไอซ์ วันเดอร์แลนด์ และซีไลฟ์ แบงคอก โอเชียนเวิลด์ และก่อนที่จะสิ้นสุดกิจกรรม เหล่านักเรียนทุนยังได้ร่วมกันแบ่งปันความคิด ความหวัง และความใฝ่ฝันเพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ บนฐานความรู้ ในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคม สร้างผลผลิตทางความคิด สำหรับนำไปทำให้เป็นจริงในอนาคตอันใกล้ ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน

น.ส.ศิริวรรณ  ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวถึงแนวคิดของการจัดกรรมครั้งนี้ว่า นักเรียนทุนของมูลนิธิฯ ทุกคนเปรียบเสมือนต้นกล้าที่เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมจะแผ่กิ่งก้านสาขาเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคมต่อไป สอดคล้องกับปณิธานของมูลนิธิฯ ข้อหนึ่งนั่นคือ การส่งเสริมค่านิยมการรับเพื่อให้ หรือ Pay it Forward โดยเมื่อทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาเพื่อเติบโตไปเป็นบุคลากรสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติแล้ว อยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่ายทางความคิด และลงมือทำ เพื่อก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน

ด้านน้องๆ นักเรียนทุน ได้กล่าวถึงความประทับใจจากการมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดย “แนน” น.ส.รอฮานี เจะสมะแอ อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้นปีที่ 3 บอกว่า “ตลอด 3 วันได้ประสบการณ์ดีๆ โดยเฉพาะแง่คิดจากวิทยากร อย่าง หมอเก๋อ ที่แนะนำเรื่องการแก้ไขปัญหาว่ามีอยู่ 3 แบบคือแก้ไขได้โดยเราเอง แก้ไขได้โดยผู้อื่นและแก้ไม่ได้เลย ดังนั้นเราควรโฟกัสที่แบบที่ 1 มากกว่าการมัวเสียเวลากับแบบที่ 3 และหมอเก๋อยังบอกอีกว่า ตัวเราจะยิ่งใหญ่มากเมื่อได้ไปช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อได้เห็นรอยยิ้ม ความสุขของผู้คนเหล่านั้น ทำให้เราเข้าใจคำว่าอยากช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ กับการที่เราได้ดูแลน้องๆ จากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ทุกอย่างเริ่มต้นได้เมื่อเรากล้าที่จะเริ่มลงมือทำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งการได้มาพบปะเพื่อนจากต่างสถาบันซึ่งเป็นนักเรียนทุนเหมือนกัน ทำให้เราได้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะนำสิ่งที่ได้นี้ส่งต่อไปยังชุมชนที่บ้านเกิดใน จ.ปัตตานี ให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ และยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดด้านการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ได้อีกด้วย"

ส่วน “แกว” น.ส.อรวรรณ  วงศ์สมบัติ นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ 6 เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมว่า “ได้รับความรู้และแง่คิดจากวิทยากรในมุมมองที่เราอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อน และได้เป็นผู้มอบความสุขทางใจกับน้องที่มาร่วมกิจกรรม ความสุขที่สะท้อนผ่านแววตาของเด็กเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกภูมิใจและมีความสุขมากเช่นกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในฐานะผู้ส่งต่อโอกาสไปให้ผู้อื่น เกิดแรงบันดาลใจในการนำไปใช้ในชีวิต และสิ่งสำคัญคือมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างรุ่นพี่ เพื่อน รุ่นน้อง ที่เป็นนักเรียนทุนเหมือนกัน จะถูกต่อยอดไปหลังจากจบกิจกรรม ทำให้เมื่อเรามีปัญหาเฉพาะหน้าก็มีที่ปรึกษาให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เราได้พบมากับตัวเอง เราเคยได้รับโอกาสทางการศึกษาจากมูลนิธิฯ แล้ว เมื่อมีโอกาสแม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไปให้กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน สำหรับรุ่นน้อง ที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียนทุนมูลนิธิฯ ก็ขอให้ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ได้รับโอกาสแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด” 

สำหรับ “เอ” นายบดินทร์  โรจน์พงศ์เกษม นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 6 ซึ่งมาร่วมกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ให้ความเห็นว่า “โดยส่วนตัวเคยเป็นผู้ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมาก่อน เมื่อได้รับโอกาสทางการศึกษาจากมูลนิธิฯ จึงทำให้รู้สึกเลยว่าการได้รับโอกาสในวันที่แย่นั้นเป็นอย่างไร และมีคุณค่าแค่ไหน ดังนั้นเมื่อมูลนิธิฯ จัดกิจกรรมเช่นนี้ แม้เวลาของตนจะมีน้อย แต่ก็ต้องมาร่วมให้ได้ และจะมาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อร่วมกันมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งยังได้มาแชร์ประสบการณ์ที่ตัวเองมี และต้องการฟังความคิดจากผู้อื่นด้วยเช่นกัน โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการส่งต่อในสิ่งที่ดีๆ นั้นทำได้ง่าย โดยเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติความคิดตัวเองให้เปิดกว้าง เมื่อเริ่มต้นทำแล้วอีกหน่อยจะทำได้ดียิ่งขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ หากทุกคนคิดได้เช่นนี้ ก็จะเกิดการหยิบยื่นให้กันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเราสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำความดีเพื่อตั้งต้นให้ผู้อื่นทำต่อไปได้” 

คำบอกเล่าเหล่านี้ คือผลผลิตของการปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นผู้ให้ที่ดี ให้ด้วยหัวใจ เป็นการให้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาในพลังแห่งการทำความดี ของเหล่านักเรียนทุนมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของฉัน เรื่องของเธอ แต่ทั้งหมดคือเรื่องของ “เรา” ที่ต่างต้องช่วยประคับประคองกันไปทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สังคมไทยได้เติบโตไปอย่างยั่งยืน การส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่กันจึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะก่อให้เกิดสายใยทางความดีที่ไม่มีวันจบสิ้น และเชื่อว่าพลังของเจตนารมย์ที่ดี ที่ควบคู่กับความรู้และคุณค่าของการ "Pay It Forward - รับเพื่อให้" จะเป็นพลังสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ในวันข้างหน้า

Tags: Pfizer ไฟเซอร์ มูลนิธิไฟเซอร์ PTF ทุนการศึกษา