นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ทำให้ครูต้องปรับบทบาทกันยกใหญ่อยู่ในขณะนี้ นับเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตัวให้กับวงการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก บางโรงเรียนเองได้เข้าร่วมโครงการแล้ว บางโรงเรียนก็กำลังศึกษาแนวทางกันอยู่ แต่ไม่ว่าใครจะอยู่ในระยะใดย่อมต้องพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของงาน “แม็คเอ็ดดูก้า 2016 (MACEDUCA 2015) “ปฎิรูปการเรียนรู้...ครูคือหัวใจ” ครั้งที่ 2” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาหลายท่านมาร่วมแนะแนวทางให้ครูที่เข้าอบรมว่าหลังจากนี้ควรจะปรับตัวอย่างไร....
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวถึงนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้กับครูที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ว่า “การที่รัฐบาลมีนโยบายให้ลดเวลาสอนของครูและเพิ่มเวลาเรียนรู้ในทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อตัวเด็ก เพื่อส่งเสริมให้การเรียนการสอนนั้นเกิดประสิทธิผลได้มากขึ้น ปัจจุบันนี้เด็กจะเรียนด้วยรูปแบบเดิมที่เน้นท่องจำและฟังจากครูอย่างเดียวหรือเรียกว่า Passive Learning ไม่ได้อีกแล้ว ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการสอนเป็นแบบ Active Learning ที่เน้นการลงมือทำ ปฏิบัติจริง เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ในชีวิต ให้เด็กเกิดการพัฒนาทางด้านพุทธพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยไปถึงระดับที่คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และประเมินผลได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างให้เด็กเข้าสู่การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเพื่อช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจของบ้านเราที่ขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะและความชำนาญอยู่ในขณะนี้ เพราะการเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจในสาขาวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ได้เห็นแนวทางการเติบโตในสาขาวิชาชีพ จะทำให้เด็กกล้าที่จะเลือกเรียนในสายอาชีวศึกษามากขึ้น”
ด้าน ผศ. ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี กล่าวว่า “เพื่อให้นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้นั้นสัมฤทธิ์ผล ครูต้องเน้นการสร้างกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะในด้านต่างๆ โดยเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียน และกิจกรรมเหล่านั้นจะต้องมีความหมายและเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตจริงของเด็กๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างนิ่งในศตวรรษที่ 21 ที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เด็กจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพตัวเองเพื่อใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ เตรียมตัวเป็นทั้งพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลก โดยศักยภาพในด้านต่างๆ นั้น ได้แก่ ความรู้พื้นฐานในยุคดิจิทัล ความสามารถในการคิดประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผล มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ต้องใช้ให้เป็นและเกิดคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น ครูในวันนี้ จะต้องเป็นผู้สร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพเหล่านี้ ผ่านการได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริง สิ่งที่เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจจากตัวหนังสือในตำราเรียน เช่น สอนให้เด็กรู้จักการอดทนอดกลั้นจากเหตุการณ์จริง เข้าใจการรอคอยด้วยเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง หรือหากสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาไม่อำนวย จะต้องมองในชุมชนว่ามีพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใดสามารถจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ เช่น เด็กต้องการเล่นกีฬาแต่โรงเรียนไม่มีสนามกีฬาก็ต้องไปขอความร่วมมือจากองค์กรบริหารส่วนตำบล วัด หรือพื้นที่สาธารณะใกล้เคียงโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็สามารถขอความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนภายนอกมาร่วมสร้างกิจกรรมให้กับเด็กได้ด้วยเช่นกัน และขณะที่เด็กกำลังเรียนรู้อยู่นั้น ครูต้องเป็นผู้ชี้แนะ ชี้ถูกผิด บอกวิธีแก้ไข แนะแนวทางที่เหมาะสมที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ครูควรมีความใกล้ชิดกับเด็กให้มากขึ้นโดยเฉพาะจิตใจ เพื่อให้เด็กเกิดความไว้วางใจ กล้าที่จะถามและปรึกษา”
ด้าน ครูปริญญรัตน์ พลวิชัย หัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ที่ได้เข้าร่วมงานแม็คเอ็ดดูก้า ครั้งที่ 2 และโรงเรียนได้เริ่มเข้าร่วมโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แล้ว แสดงความเห็นว่า “เป็นโครงการที่ดี เพราะความรู้ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หางานจากโลกออนไลน์ แต่เรื่องของทักษะการใช้ชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนต้องค้นหาเองจากประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กๆ ได้ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง ได้ลงมือทำจริง จะทำให้เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียนมากขึ้น โดยโรงเรียนเริ่มทำกับนักเรียนระดับมัธยมต้น เปิดให้ครูทุกกลุ่มสาระส่งกิจกรรมนำเสนอเข้ามา ขณะนี้มีกว่า 100 กิจกรรม อาทิ กิจกรรมอาสาพาท่องเที่ยว กิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมดนตรี กิจกรรมภาษา จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนสิ่งที่ต้นเองชอบ ซึ่งเด็กจะมีสมุดตารางกิจกรรมเพื่อเลือกเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ หลังจากเข้าร่วมแล้ว ต้องสรุปในสมุดถึงประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการประเมินตัวเองและประเมินกิจกรรมที่ครูจัดให้ไปด้วย ทำให้นำไปพัฒนาในกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป โดยส่วนตัวเชื่อว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวนี้จะสามารถพัฒนาทักษะเด็กได้จริง เด็กจะเข้าใจในเนื้อหาของบทเรียนได้มากขึ้น และทำให้เรียนรู้ที่จะเลือกวิชาชีพของตัวเองต่อไป”
นายคมพิชญ์ พนาสุภน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า งานแม็คเอ็ดดูก้า (MAC EDUCA) ครั้งที่ 2 นี้ นอกเหนือจากเรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แล้ว ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มพูนทักษะและจัดการการเรียนรู้ของครูผู้สอนทั้งในระดับพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา และยังได้เพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาสู่การเป็นครูในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้เรียนเป็นอย่างมาก ขอบเขตของการเรียนรู้ไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นอีกแล้ว ดังนั้นบทบาทของครูจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ทัน โดยครูต้องก้าวข้ามจากบทบาทการสอนเพียงเพื่อให้ใช้เทคโนโลยีเป็น เป็นการสอนให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ได้ และมีวิจารณญาณในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ให้กับเด็กนั้น จึงควรใช้โอกาสดังกล่าวนี้สร้างทักษะให้กับลูกศิษย์ในการรู้จักเลือกใช้สื่อดิจิทัลให้เป็น เพื่อให้เด็กได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง สามารถนำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ต่อไป