ปั้นเด็กอาชีวะ สู่การศึกษาศตวรรษที่ 21 ด้วย Project-based Learning


บนพื้นฐานความเข้าใจในสังคมไทยทั่วไปทุกวันนี้ นักเรียนนักศึกษาในสายอาชีวะถูกมองเป็นจุดอ่อนของสังคม จะด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้งตามข่าวหรือสื่อใดๆ ก็ตาม แท้จริงแล้วในหลายประเทศที่ก้าวหน้าให้ความสำคัญกับกลุ่มที่จบการศึกษาในสายอาชีวศึกษา เพราะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และคมนาคม ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรปรับทัศนคติใหม่ต่อกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาให้อนาคตของประเทศ ได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ขณะเดียวกัน ครูผู้สอนเองก็ควรปรับวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง สร้างคุณค่าให้ตัวเอง มีอำนาจในการต่อรองกับสถานประกอบการได้มากขึ้น จนถึงในระดับที่สามารถประกอบวิชาชีพอิสระเองได้ นี่เป็นที่มาของคำถามที่ว่า “แล้วบทบาทของครูอาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะต้องเป็นอย่างไร?”    

นายคมพิชญ์  พนาสุภน กรรมการ บริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า การจัดงาน “แม็ค เอ็ดดูก้า 2015” (MAC EDUCA 2015) ขึ้นมานี้ เนื่องจากครูเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ และทักษะ เพื่อเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข จึงต้องมีการจัดการการเรียนรู้ที่ดี ให้สามารถตอบสนองการเรียนรู้ที่รวดเร็วของเรียนในปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานครั้งนี้ จะทำให้คุณครูทุกท่านได้รับความรู้และวิธีการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อนำไปปรับใช้กับรูปแบบการสอนที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัย เหมาะสมกับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล  เพราะบทบาทของครูในศตวรรษที่ 21 คือการเตรียมตัวนักเรียนสำหรับอาชีพที่ยังไม่มีในปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่ถูกสร้างขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่เรายังมองไม่เห็นในวันนี้      

สำหรับการอบรมสำหรับครูระดับอาชีวศึกษาหัวข้อ “ปฎิรูปการเรียนรู้สู่ Pj BL (Project-based Learning)” ได้รับเกียรติจาก ดร.ประชาคม จันทรชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, ดร.วีรวัฒน์ วรรณศิริ ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย, อาจารย์ไพฑูรย์ นันตะสุคนธ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และ รศ.ดร. ปรัชญนันท์ นิลสุข หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมเป็นวิทยากรอบรมให้แก่ครูที่เข้าร่วมงานกว่า 400 ท่าน

โดย  ดร.ประชาคม จันทรชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “การจะพัฒนาระบบอาชีวศึกษา สู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และความต้องการของสถานประกอบการต่างๆ  พร้อมทั้งนำความรู้ทางทฤษฎีที่เป็นสากลมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน  เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษามีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของตลาด”

ด้าน รศ.ดร. ปรัชญนันท์ นิลสุข หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า “การเรียนการสอนแบบเดิมครูทำหน้าเป็นผู้ให้ข้อมูล กำหนดสิ่งต่างๆ ให้นักเรียนเป็นผู้ลงมือปฎิบัติ (Doing Project) แต่นักเรียนในศตวรรษที่ 21 นั้น เป็นยุคแห่งเทคโนโยลี ที่ผู้เรียนสามารถสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ในโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม Project-based Learning (Pj BL) หรือ การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแผนการเรียนการสอนในยุคนี้ เพราะเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฎิบัติจริง สร้างประสบการณ์ตรง นักเรียนสามารถเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา เกิดความคิดสร้างสรรค์  รู้จักการวางแผนการทำงาน ตลอดจนสามารถประเมินผลงานและการทำงานของตนเองได้ ซึ่งครูมีบทบาทเป็นโค้ช คอยให้คำปรึกษาชี้แนะ  โดยยึดหลัก 4Cs ได้แก่ Critical Thinking ชี้แนะให้นักเรียนได้รู้จักใช้วิจารณญาณในการตัดสินสิ่งที่ทำว่าดีหรือไม่ ถูกหรือผิด, Communication สร้างการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนข้อมูล, Collaboration ชี้แนะให้รู้จักวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ความรู้ใหม่ๆ และสุดท้าย  Creativity เป็นผู้ชี้แนะให้นักเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และเกิดจินตนาการในโครงงาน อย่างไม่ปิดกั้นความคิดต่างๆ ที่นักเรียนคิดขึ้นมา ไม่เกิดคำพูดลดทอนความเชื่อมั่น อาทิ จะดีหรือ? อย่าทำเลย ครูว่าไม่ใช่ เป็นต้น”  

ด้าน ดร. อนันท์ งามสะอาด ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-ไต้หวัน (BDI) หนึ่งในสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า “นักเรียนที่จบอาชีวศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาพรวมของระบบอาชีวศึกษาในประเทศไทยปัจจุบันนั้น ยังมุ่งเน้นเชิงธุรกิจคือ การเน้น “ปริมาณ” การรับนักเรียนจำนวนมาก ใช้แผนการเรียนการสอนตามตำราโดยไม่วิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้นักเรียนที่จบออกมาขาด “คุณภาพ” และ “คุณสมบัติ” ตามที่ตลาดต้องการ เปรียบเสมือนทฤษฎีทางการตลาดคือ ดีมานด์กับซัพพลายไม่ตรงกัน ส่งผลให้เกิดการตกงาน ไปจนถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของการเรียนในระบบอาชีวศึกษา

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องยึดหลักการปฎิรูปแบบ Pj BL โดยแบ่งออกเป็น “การลงมือปฎิบัติจริง” คือ ให้นักเรียนได้ร่วมปฎิบัติงานในสถานประกอบการจริง “ครูผู้สอน” ต้องมีประสบการณ์ในวิชาชีพต่างๆ เพื่อนำมาถ่ายทอดให้นักเรียนได้ทราบถึงแนวทางการทำงานในสายงานนั้นๆ ได้อย่างเข้าใจและถ่องแท้ และของความร่วมมือจาก “สถานประกอบการ” ในการแจ้งคุณสมบัติของสายงานต่างๆ แก่สถาบันศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนและผลิตนักศึกษาอาชีวะให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการนั้นๆ

“การจัดอบรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับครูในสถาบันต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้รูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ถูกวิธี ผลิตบุคลากรให้ออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรงกับความต้องการของตลาด ควรจะมีการจัดกิจกรรมเช่นนี้อย่างน้อยปีละ 2-4 ครั้ง เพราะเชื่อว่าครูเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษา ดังนั้นเราจะต้องสอนให้ครูเข้าใจก่อน”

ส่วน นายโชคชัย อุ่นเรือน อาจารย์หัวหน้าแผนกการตลาด ตัวแทนวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) เล่าว่า “หากพูดถึงภาพรวมของสถาบันอาชีวศึกษา ในสายตาของคนไทยหลายคนยังอาจมองเป็นภาพลบ เนื่องจากหลายปัจจัย แต่แท้จริงแล้วกลุ่มนักเรียนจบสายวิชาชีพกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้ประกอบการ ซึ่งในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเยอรมนี ให้ความสำคัญกับสถาบันอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก ดังนั้นการมาเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ทำให้เรามองเห็นแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่เพื่อให้ตอบรับกับศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ  Project-based Learning  โดยบทบาทหน้าที่ของครูคือ “Teach Less-Learn More สอนน้อยลง ให้นักเรียนได้เรียนรู้มากขึ้น” ซึ่งครูจะทำหน้าที่หลักๆ จัดเนื้อหาการสอนให้สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียน  เชื่อมต่อสถานการณ์รอบตัว สถานการณ์โลกเข้าสู่ห้องเรียน และพานักเรียนออกไปสัมผัสกับการเรียนในชีวิตจริง”  

อนาคตของระบบการเรียนการสอนในสายอาชีวศึกษาของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “ครู” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาที่จะช่วยผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ ทำให้สถาบันอาชีวศึกษาของไทยเดินหน้าเทียบเท่าระดับสากล สร้างเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป