ไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพ “งานประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ ๑๒” แสดงศักยภาพของวงการกล้วยไม้ไทยในระดับนานาชาติ


ประเทศไทย โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานกล้วยไม้ครั้งยิ่งใหญ่ “งานประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ ๑๒” หรือ The 12th Asia Pacific Orchid Conference (APOC 12) ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนร่วมแสดงศักยภาพกล้วยไม้ไทยในระดับสากล ดึงผู้ประกอบการ สมาคม และนักกล้วยไม้จากทั่วโลกเข้าร่วม เปิดโอกาสผู้ประกอบการไทยสร้างคู่ค้าใหม่ ร่วมประชุมวิชาการ จัดแสดงพันธุ์และนวัตกรรมกล้วยไม้นานาชาติ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙ คาดมีผู้เข้าชมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า ๔๕,๐๐๐ คน

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีพื้นที่การปลูกกล้วยไม้ถึง ๒๐,๐๐๐ ไร่ มีเกษตรกรและผู้ประกอบการถึง ๓,๐๐๐ ครัวเรือน ซึ่งต่างเป็นผู้มีประสบการณ์ในวงจรธุรกิจกล้วยไม้มาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี และยังมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ชมรมและสมาคมกล้วยไม้ที่เข้มแข็งจำนวนไม่น้อย อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นแหล่งพันธุกรรมกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก มีสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศ ในการผลิตและเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกและต้นกล้วยไม้เขตร้อนรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นตลาดส่งออกกล้วยไม้ของไทยเป็นอันดับ ๑ ส่วนอินเดียเองก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“การจัดงานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๑๒ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยแสดงศักยภาพความยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุกรรม และความก้าวหน้าด้านวิชาการ และวงการกล้วยไม้ คาดหวังว่าจะเกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชมรมกล้วยไม้ สมาคมกล้วยไม้ การพัฒนาด้านการตลาด เกิดการสร้างคู่ค้ารายใหม่ให้กับกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ขยายตลาดส่งออกที่มีอยู่เดิมและเกิดตลาดใหม่ที่รองรับสินค้ากล้วยไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยไม้ในรูปแบบต่างๆ อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลกพ.ศ ๒๕๕๔-๒๕๕๙ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งหวังให้เกิดการเพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขัน เกิดการส่งเสริมการผลิตกล้วยไม้คุณภาพมากขึ้น มีการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างมหาศาลหลังจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AEC ในปลายปีนี้” นางพรรณพิมล กล่าว

ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Conference) จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ ๒๕๒๗ โดย ศ.ระพี  สาคริก  เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มขณะนั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเริ่มครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่ประเทศญี่ปุ่น และจัดให้มีการประชุมขึ้นทุกๆ ๓ ปี  โดยประเทศสมาชิก จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพ APOC ครั้งที่ ๔ ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งความสำเร็จจากการจัดงานดังกล่าวทำให้วงการกล้วยไม้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมีการเติบโตและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการปลูก การวิจัยและพัฒนา และด้านการตลาด ในปี ๒๕๕๓ ศ.ระพี สาคริก ที่ปรึกษาด้านไม้ดอกไม้ประดับของกรมวิชาการเกษตรได้ให้ความเห็นว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสัมมนากล้วยไม้อีกครั้งหนึ่ง กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเห็นชอบในการจัดประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ ๑๒ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙  ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งนับเป็นการจัดงานกล้วยไม้ระดับนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ ๒๐ ปี

“งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ ๑๒ (The 12th Asia Pacific Orchid Conference) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อเรียก APOC (เอพีโอซีหรือเอปอค) จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Orchids and Human  Beings หรือ กล้วยไม้แห่งมวลมนุษยชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้อย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เกิดการต่อยอดความรู้และความก้าวหน้าด้านสายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้ ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาส แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัยกล้วยไม้ของไทย  ได้ศึกษาทิศทางของตลาดนานาประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ในการส่งออกกล้วยไม้ของประเทศ ตลอดจนการสร้างคู่ค้าใหม่ๆ นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในองค์รวมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การโรงแรม และการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยออกไปทั้งทางตรงและทางอ้อม คาดมีผู้เข้าชมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า ๔๕,๐๐๐ คน” นายอนันต์ กล่าว

กิจกรรมภายในงาน APOC 12 ประกอบด้วย การประชุมวิชาการกล้วยไม้นานาชาตการประชุมวิชาการและการฝึกอบรม การแสดงนิทรรศการวิชาการ/การอนุรักษ์/นวัตกรรมกล้วยไม้ การจัดแสดงและประกวดกล้วยไม้ อาทิ การจัดสวนกล้วยไม้ /กล้วยไม้ต้น / กล้วยไม้ตัดดอก/  ศิลปะการจัดดอกไม้ / สิ่งประดิษฐ์จากกล้วยไม้ ได้แก่ กล้วยไม้อัดแห้ง พวงมาลัยกล้วยไม้ฯ และอื่นๆ การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน พืชอนุรักษ์ การจัดทัศนศึกษา และท่องเที่ยว การจัดแสดงและประกวดศิลปะจากกล้วยไม้  ภาพวาด ภาพถ่าย และประติมากรรมกล้วยไม้ การจำหน่ายกล้วยไม้นานาชนิด สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย กิจกรรมและผลงานของเยาวชน รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ   สำหรับความพร้อมในการจัดงาน APOC 12 นั้น กรมวิชาการเกษตร ได้เริ่มดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่ พ.ศ.​ ๒๕๕๓ เป็นต้นมา พร้อมกันนี้ยังมีการดำเนินการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเชิญชวนผู้ประกอบการจากนานาประเทศให้เข้ามาร่วมงาน โดยตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ศ.ระพี  สาคริก นายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งงาน APOC และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของการจัดงานได้เดินทางเข้าร่วมงานแสดงกล้วยไม้ในประเทศต่างๆ อาทิ งาน Okinawa International Orchid Show 2015 เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น งาน Taiwan International Orchid Show 2015 ประเทศไต้หวัน งาน Singapore Orchid Show 2014 ณ ประเทศสิงคโปร์ งานกล้วยไม้โลกครั้งที่ 21 World Orchid Conference 2014 ณ ประเทศอัฟริกาใต้ และงาน European Orchid Show & Conference  2015 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการ กว่า ๑๕ ประเทศ ตอบรับเข้าร่วมงาน  

ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ ๑๒ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการจัดงานจากภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)  เป็นต้น