ช่วยผู้พิการทางสายตาออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เป้าหมายที่พิชิตได้ด้วย “ไกด์ รันเนอร์”


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเป็นผู้พิการทางสายตาก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเหล่า นั้นต่างก็มีความสามารถในการทำกิจกรรมหลายๆ อย่างเทียบเท่ากับคนปกติทั่วไป ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การอ่านหนังสือ การทำงาน หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกาย แต่กิจกรรมการออกกำลังกายประเภท “การวิ่ง” กลายเป็นสิ่งที่ยากเกินไป หากขาดผู้ชี้นำทางมาเป็น “ไกด์รันเนอร์(Guide Runner) คอยให้การช่วยเหลือ ซึ่งคุณเองก็สามารถเป็นไกด์รันเนอร์ช่วยสานฝันให้ผู้พิการทางสายตาที่ชื่นชอบการออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้มีโอกาสลุกขึ้นมาทำตามฝันของตัวเองได้อีกครั้ง    

นายจิรวัฒน์ มีสุข อดีตนักกีฬาพาราลิมปิคทีมชาติไทย ผู้ฝึกสอนนักกรีฑาผู้พิการทางสายตา และไกด์รันเนอร์            ในกิจกรรมเวิร์คช้อป Run with the Blind (รัน วิท เดอะ บลายด์)”  ที่จัดขึ้นโดย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เล่าว่า “ปัจจุบันมีผู้พิการทางสายตาจำนวนมากที่ต้องการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง หรือ บลายด์รันเนอร์ (Blind Runner) แต่ยังขาดผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือระหว่างการวิ่ง ซึ่งผู้ที่ต้องการจะเป็น “ไกด์รันเนอร์” นั้น นอกจากจะต้องมีทักษะด้านการออกกำลังกายและการวิ่ง พร้อมทั้งมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังต้องเข้าใจถึงสภาพจิตใจของผู้พิการทางสายตาด้วย โดยผู้พิการทางสายตาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้พิการมาตั้งแต่กำเนิด จะมีความคุ้นชินกับโลกมืด ส่งผลให้สภาพจิตใจจะสงบ พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย และอีกกลุ่มคือ ผู้พิการที่เพิ่งประสบอุบัติ ส่วนใหญ่จะมีสภาพทางจิตใจและอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่คุ้นชินกับการมองไม่เห็น ดังนั้นการดูแลจึงต้องเน้นการให้กำลังใจเพื่อสร้างเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิต ทั้งนี้ควรพิจารณาด้วยว่าผู้พิการทางสายตาทั้ง 2 กลุ่มมีโรคประจำตัวหรือไม่ เพราะโรคประจำตัวบางโรคก็ไม่สามารถที่จะออกกำลังกายอย่างหนักได้    

สำหรับเทคนิคการสื่อสารกับผู้พิการทางสายตา หลักๆ มี 2 วิธี ได้แก่  การสัมผัส คือให้ผู้พิการทางสายตาได้จับที่ข้อมือหรือแขนของไกด์รันเนอร์ตามแต่ถนัด นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชือกหรือผ้ามัดเป็นวงกลมสำหรับจับระหว่างกัน เพื่อใช้ในการบอกทิศทาง อาทิ หากเรากำลังจะไปทางซ้าย ก็ดันมือไปทางซ้าย หรือหากเรากำลังจะนั่งก็ดึงข้อมือลง ซึ่งวิธีนี้จะง่ายกว่าการที่ไกด์รันเนอร์จับมือผู้พิการทางสายตา เพราะโดยธรรมชาติของร่างกายและความคุ้นชิน เรามักนิยมดันมือแทนการพูด ซึ่งจะทำให้เกิดการผลักและดันส่งผลให้ผู้พิการทางสายตาหกล้มได้ วิธีที่ 2 คือ การพูด โดยไกด์รันเนอร์จะต้องบรรยายทุกอย่างที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าให้แก่ผู้พิการทางสายได้รับรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เหมือนกัน อาทิ เรากำลังจะเลี้ยวซ้าย ข้างหน้าเป็นทางลดระดับ หรือแม้กระทั้งการส่งอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้แก่ผู้พิการทางสายตา ก็จำเป็นต้องบอกให้รู้ว่าสิ่งที่กำลังจะมอบให้นั่นคืออะไรเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้รับรู้ถึงน้ำหนักและปริมาณของสิ่งนั้นเพื่อเตรียมการรับต่อไปได้

หลังจากวอร์มร่างกายเสร็จแล้ว จึงเริ่มให้ผู้พิการทางสายตาจับที่ข้อมือหรือแขนของไกด์รันเนอร์ และเริ่มวิ่ง โดยการเดินช้าๆ เพื่อเริ่มปรับจังหวะและรักษาระดับความเร็วให้ตรงกัน จากนั้นค่อยๆ วิ่งในความเร็วที่คงที่ไม่เร็วจนเกินไป ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในร่างกายให้สามารถวิ่งได้นานขึ้น อีกทั้งยังเพื่อให้ไกด์รันเนอร์สามารถควบคุมสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน สำหรับกิจกรรมเวิร์คช้อป “Run with the Blind (รัน วิท เดอะ บลายด์)” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาพร้อมด้วยไกด์รันเนอร์ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ได้จับคู่และฝึกซ้อมการวิ่งร่วมกัน จากนี้ไปจนถึงการแข่งขันในงานวิ่งมาราธอนประจำปีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกับงาน “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 28” และเพื่อส่งเสริมให้คนในครอบครัวที่มีผู้พิการทางสายตาได้นำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้และดูแลผู้พิการทางสายตา

น.ส.หรรษา จุงพิวัฒน์ หรือ “ใบพลู” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หนึ่งในไกด์รันเนอร์จิตอาสา เล่าว่า “ปกติเป็นคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้วและเข้าร่วมการแข่งขันวิ่ง ประเภทฟันรัน (Fun Run) เป็นประจำ พอทราบว่ามีกิจกรรมการรับสมัครไกด์รันเนอร์จิตอาสาดังกล่าว จึงตัดสินใจกับเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเหตุผลที่ว่าเราต้องการสานฝันให้คนที่รักในการวิ่งเหมือนเราแต่เขาไม่สามารถทำสิ่งนี้คนเดียวได้ ให้เขาทำได้สำเร็จ โดยกิจกรรมเวิร์คช้อปในครั้งนี้ ได้สอนอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการสื่อสารกับผู้พิการทางสายตา การส่งสัญญาณด้วยวิธีการต่างๆ การเริ่มต้นพาคู่วิ่งร่วมวิ่งไปด้วยกันได้โดยตลอดเส้นทาง รวมถึงยังทำให้เราได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้พิการทางสายตาที่ต่างตั้งใจฝึกซ้อมเพื่อจะร่วมวิ่งในวันจริงด้วย หลังจากนี้ได้มีการนัดวัน เวลาการซ้อมร่วมกับผู้พิการทางสายตา โดยจะซ้อมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ไปเรื่อยๆ จนถึงวันแข่ง เชื่อว่าเราจะเป็นคู่หนึ่งในหน้าประวัติศาตร์ที่จะไปถึงเส้นชัยได้อย่างแน่นอน”    

ส่วนบลายด์รันเนอร์อย่าง  ด.ญ.ธัญวลัย ลิ้มประเสริฐ หรือ “น้องเหมย” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เล่าว่า “รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาวิ่งอีกครั้ง เพราะปกติเป็นคนชอบออกกำลังกาย  โดยการแข่งขันในครั้งนี้ตั้งเป้าไว้ที่การวิ่งประเภทไมโครมาราธอน ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร พร้อมทั้งได้วางแผนการซ้อมวิ่งอย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้งกับไกด์รันเนอร์ ส่วนเวลาที่เหลือก็จะฝึกซ้อมร่างกายให้แข็งแรงด้วยการ กระโดดตบ วิ่งบนลู่วิ่ง เพื่อสร้างกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ  เพื่อให้ตัวเองพร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขัน”

ด.ช.กันต์ศักดิ์ แสนโภชน์ หรือ “น้องม่อน” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เล่าว่า  “ดีใจมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเป็นคนชอบวิ่งอยู่แล้ว โดยกิจกรรมในวันนี้ได้รับความรู้เรื่องเทคนิคการวิ่งที่เป็นประโยชน์จากพี่ๆ ไกด์รันเนอร์ ที่เป็นคู่ซ้อมวิ่งในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการรักษาระดับความเร็วในการวิ่งให้คงที่ไม่เร็วหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นการวิ่งแบบเก็บแรงจะทำให้เราวิ่งได้นานและไม่เหนื่อยเร็ว ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับการเข้าร่วมวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ คือต้องการให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ร่วมกันส่งกำลังใจหรือแรงเชียร์ให้กับบลายด์รันเนอร์และไกด์รันเนอร์จิตอาสา ได้ในงาน “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 28” ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ณ จุดสตาร์ท บนถนนสนามไชย หน้าพระบรมหาราชวัง ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป