“พานาโซนิค” และ “มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ (FEED)” นำกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ช.ม. ลดโลกร้อน (60 EARTH HOUR)” มาต่อยอดเป็นโครงการ “โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก (Low carbon school network)” เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของสังคมเมืองใหญ่ ได้เรียนรู้และเข้าใจถึง “รอยเท้าคาร์บอน” ที่เราทุกคนสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทั้งในเรื่องของการเดินทาง การรับประทานอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือกระทั่งสิ่งของเครื่องใช้รอบตัว ต้นตอสำคัญของการเกิดภาวะเรือนกระจกและโลกร้อน พร้อมทั้งชี้ให้เยาวชนได้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขด้วยการ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ซึ่งถือเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
คุณศิริรัตน์ ยงค์เจริญชัย ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า “สำหรับโครงการนี้เราจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยในปีแรก ได้เริ่มจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และขยายไปที่สมุทรปราการในปีที่ 2 ปีนี้จึงขยายมายังกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์หลักคือให้น้องๆ นักเรียนได้ตระหนักถึงปัญหา พร้อมให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการพัฒนาทักษะที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดรอยเท้าคาร์บอน หรือ Carbon Footprint โดยเริ่มจากกิจกรรม School Out Reach แนะนำโครงการแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมค้นหาตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนกว่า 100 คนจาก 17 โรงเรียน ร่วมเข้าค่ายทำกิจกรรม เรียนรู้เรื่องพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน หลังจากนั้นน้องๆ ต้องนำความรู้ที่ได้ไปจัดทำโครงงานแผนการลดรอยเท้าคาร์บอน เผยแพร่ความรู้และแนะนำให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียน โดยจะมีคณะกรรมเข้าไปให้คำแนะนำและติดตามผล หากโรงเรียนใดสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนในการลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนได้มากที่สุด จะได้รับรางวัลพร้อมนำผลงานไปจัดแสดงในกิจกรรม Earth Hour (ปิดไฟ 1 ชั่วโมงให้โลกพัก)”
“โครงการ “โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างการเรียนรู้พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งขั้นตอนและวิธีการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ จะถูกจัดทำเป็น “คู่มือการเป็นโรงเรียนคาร์บอนต่ำ” เพื่อแจกให้กับโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการทั่วประเทศ นำไปใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนต่อไป”