By a publicist 3 สิงหาคม 2564
หากมีใครเดินมาถามว่ารู้จักการศึกษาแบบระบบบ้านหรือ “House System” ไหม? หลายคนอาจขมวดคิ้วสงสัยกันว่ามันคืออะไร เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เราต่างคุ้นเคยกับระบบการศึกษาแบบปกติที่มีการแบ่งระดับชั้นชัดเจน มีการจัดเนื้อหาหลักสูตรและกิจกรรมให้เข้ากับช่วงวัย อาจจะมีบ้างที่นักเรียนรุ่นพี่น้องมีโอกาสให้ได้เรียนรู้ได้ร่วมงานกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน อย่างงานกีฬาสี และงานนิทรรศการวิชาการ นอกนั้นถ้าจะได้สานสัมพันธ์ รู้จักกันมากขึ้น ก็มักจะเป็นช่วงเวลานอกห้องเรียนแทน แต่กับ House System ระบบบ้านแบบโรงเรียนอังกฤษ จะมีแนวคิดปฏิบัติที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน
House System คืออะไร?
จุดนี้ถ้าให้พูดเป็นคำลอย ๆ ขึ้นมา แน่นอนว่าอาจจะไม่เห็นภาพกันในทันที เลยอยากให้คุณผู้อ่านค่อย ๆ หลับตาลงแล้วปลดปล่อยจินตนาการพุ่งผ่านชานชาลาที่ 9¾ นั่งรถไฟ ไปที่ฮอกวอตส์ โลดแล่นอยู่ในโลกเวทมนตร์กันชั่วขณะ ลองนึกถึงกิจกรรมบ้านคัดสรร (House Sorting ) จากในหนัง “Harry Potter” ภาคแรก ก็คงเห็นนึกออกกันได้ทันที กับฉากที่เด็กปี 1 แต่ละคนต้องทยอยมานั่งให้หมวกคัดสรรทำการเลือกว่าจะได้อยู่บ้านไหนใน 4 บ้านนี้ ได้แก่ กริฟฟินดอร์, สลิธีรีน, เรเวนคลอ และฮัฟเฟิลพัฟ โดยแต่ละบ้านก็จะมีจุดเด่นและตัวตนที่ต่างกันไปตามพ่อมดผู้ก่อตั้ง ดังนั้นเวลาเลือกเด็ก หมวกก็จะเลือกจากตัวตนและความสามารถของพ่อมดแม่มดน้อยคนนั้น พอได้รับเลือกแล้ว เขาหรือเธอจะได้เข้าเป็นสมาชิกและฝากชีวิตไว้ในอ้อมอกของรุ่นพี่และศาสตราจารย์ประจำบ้านจนเรียนจบ เป็นระบบที่ทั้งรุ่นพี่-รุ่นน้อง จะได้ฝึกการใช้ชีวิต ได้เรียนรู้ผ่านการอยู่ร่วมกัน เวลาเรียนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะทำในฐานะตัวแทนบ้าน ชนะก็ชนะด้วยกัน แพ้ก็แพ้ด้วยกัน สร้างความรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของกันให้เกิดขึ้นในใจ
และระบบ House System ที่ว่านี้ก็มีอยู่ในชีวิตจริงของเหล่ามักเกิ้ล (คนธรรมดา) อย่างเรา เช่นกัน โดยนับเป็นมรดกตกทอดจากประเทศอังกฤษที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนประจำ (Boarding School) ส่งต่อมาถึงโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งในไทย รวมไปถึงโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ (Wellington College International School Bangkok) ที่ได้ผลักดันแนวคิดนี้มานานนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มตอกเสาเข็มก่อตั้งขึ้นใจกลางกรุง โดย “Mr. Christopher Nicholls” หรือ “ครูใหญ่คริส” ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวที่มาที่ไป
“House System คือ ระบบที่เกิดจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ โดยในบ้านแต่ละหลังจะมีเด็กนักเรียนในทุกชั้นเรียนได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้าน มีทั้งพี่ทั้งน้อง ทั้งเพื่อน กินข้าว แลกเปลี่ยนพูดคุย ดูแลกัน ได้ฝึกการทำงานกันเป็นทีมผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแข่งกีฬา แข่งดนตรี วิชาการ ฯลฯ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “Big Family” เป็นครอบครัวใหญ่ที่คอยซัพพอร์ตเด็ก ทั้งในด้านการเรียนและการใช้ชีวิต การเข้าสังคมและการพัฒนาด้านอารมณ์ เป็นที่ที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วยกัน อย่างที่เวลลิงตันจะแบ่งออกเป็น 4 บ้าน ได้แก่ เบนสัน (Benson), สแตนลีย์ (Stanley), เวลล์สลีย์ (Wellesley) และ แอปส์ลีย์ (Apsley)”
House System ในชีวิตจริงต่างจากในหนัง Harry Potter ยังไง?
“แน่นอนว่าเราร่ายเวทย์ไม่ได้ (หัวเราะ)” ครูใหญ่คริสเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะบอกว่ามีความเหมือนกันค่อนข้างมากกับในหนัง Harry Potter ทั้งนี้โดยหลักการและธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ครอบครัวเดียวกันจะอยู่บ้านเดียวกัน เช่น ถ้าลูกอยู่บ้าน Stanley พ่อแม่ก็จะอยู่บ้านเดียวกันคือ Stanley โดยแต่ละบ้าน ก็จะมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันไป ตามครูประจำบ้าน (House Teacher/ House Parent) ผู้ซึ่งคอยดูแลเด็กๆ เสมือนเป็น Head Master สาขาย่อย โดยรวมคือถอดแบบมาจากแนวคิดเดียวกัน เพียงแต่ในความเป็นจริงจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าในหนังที่มักจะมีการคิดตัดสินไว้แล้วล่างหน้า (Prejudice) เช่น เด็กจากบ้านสลิธีรีนมักจะถูกมองเป็นคนไม่ดี เจ้าเล่ห์ ทะเยอทะยาน หรือเด็กจากบ้านกริฟฟินดอร์มักจะเป็นเด็กเก่ง กล้าหาญชาญชัย ส่วนในชีวิตจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะแต่ละบ้านล้วนมีจุดแข็ง มีความเก่งในแบบฉบับของตัวเอง เช่น ในปีนี้บ้านนี้อาจเก่งด้านกีฬา ส่วนอีกบ้านอาจเก่งด้านวิชาการ หรือสลับเวียนกันไปในแต่ละปี
การเรียนรู้ที่ทรงพลังกว่าโลกเวทมนตร์
วัฒนธรรม House System สำคัญยังไง? แน่นอนว่ามันไม่ใช่การจัดแบ่งบ้านให้ดูเท่ห์ๆ อย่างในหนัง แต่มันคือ พื้นที่ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างไร้ขอบเขต เด็กโตได้เรียนรู้จากเด็กเล็กว่าเขาต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้น รับผิดชอบขึ้น ส่วนเด็กเล็กเองก็ได้ยึดเด็กโตเป็นไอดอลให้ตัวเองได้พัฒนาต่อ ซึ่งมุมนี้ ครูใหญ่คริสมองว่า การให้เด็กนักเรียนมาอยู่ด้วยกันคือแนวทางที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการและพัฒนาพฤติกรรมของตัวเอง โดยเริ่มจากการเติบโตจากภายใน เปิดใจ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกตัวเองให้เป็น แล้วค่อยแสดงออกมาอย่างเหมาะสม เมื่อเด็กเข้าใจตัวเองเป็น เขาก็จะเข้าใจคนอื่นเป็นได้มากขึ้น การรังแกกันในสังคมโรงเรียนก็จะหมดไป
สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง “บ้าน” และ “โรงเรียน”
House System หรือระบบบ้านสามารถเชื่อมโยงโรงเรียนและครอบครัวให้เข้ากันได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นอีกรากฐานสำคัญที่โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันได้มุ่งมั่น ปลูกฝังมาตลอด “ครอบครัวเวลลิงตัน” ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็กนักเรียนทุกคนต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังเดียวกัน ในระบบบ้านนี้ คุณครูประจำบ้านจะมีความสำคัญมาก คอยทำหน้าที่เป็นคนกลาง ประสานงานให้ทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถรับฟังและเข้าใจว่าผู้ปกครองต้องการอะไรจริงๆ
“พ่อแม่เด็กๆ มักจะตื่นเต้น มีความสุข และเต็มไปด้วยเอเนอจี้เสมอเวลามาร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับ House System ของโรงเรียน อย่างช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 เราจะเห็นภาพที่พวกเขาแต่งตัวมาร่วมงานกันแบบจัดเต็ม พูดคุย หยอกล้อกันไปมา เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นดีจริงๆ และสิ่งนี้ก็ส่งผลต่อตัวเด็กนักเรียนเองด้วย เพราะทำให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และได้ใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกับผู้ปกครองด้วย
หากถามว่าทำไมผู้ปกครองควรส่งลูกเข้าเรียนในระบบ House System? เพราะสิ่งที่เด็กๆ จะได้คือมิตรภาพที่ไร้พรมแดน ได้มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันกับเด็กในรุ่นอื่นๆ ในบ้าน ผ่านการเข้าสังคม แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดต่างๆ นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยจุดประสงค์หลักของ House System ไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน แต่เป็นการสร้างเสริมด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การพัฒนาตนเอง และการให้การดูแลเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด” ครูใหญ่คริส กล่าว
พลังแห่งความรักสายสัมพันธ์ และการเรียนรู้ไปด้วยกันในบ้านคือสิ่งที่ทรงพลัง และมีคุณค่ามากกว่า คาถาเวทมนตร์ใดๆ จะเท่าเทียม