ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน?


ซูเปอร์มาร์เก็ต มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก จนหลายคนเรียกกันว่า “ตลาดสมัยใหม่” จากจำนวนสาขากว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2.6 ล้านล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหนึ่งห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีขนาดสั้นลง โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค การคัดกรองสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่หน้าด่านอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงทิศทางและแนวโน้มของนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารปลอดภัยและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ พบว่า ถ้าเป็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างวงจรอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ในต่างประเทศเริ่มมีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ข้อดีของระบบนี้ คือ สามารถย้อนกลับสินค้าได้ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค หรืออีกนัยหนึ่งคือ “การสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค” เลยทีเดียว สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่รายหลายมีการประกาศเจตจำนงค์อย่างชัดเจนในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ในประเทศอังกฤษมีซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่รายหนึ่งที่ประกาศลงทุนกว่าพันล้านปอนด์เพื่อจัดการกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อเห็นเทรนด์ความตื่นตัวในระดับโลกแบบนี้แล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ใส่ใจกับสวัสดิภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประเมิน “สุดยอดซูเปอร์มาร์เก็ตไทย 2020” ในมิติด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดีการของผู้บริโภค  ภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” โดยเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (Oxfam) โดยประเมินจากข้อมูลที่มีการเปิดเผยผ่านช่องทางสาธารณะของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ได้แก่ แม็คโคร ท็อปส์ ซีพี เฟรชมาร์ท เทสโก้ โลตัส กูร์เมต์ มาร์เก็ต บิ๊กซี  วิลลา มาร์เก็ต และ ฟู้ดแลนด์

นางสาวจิดาภา มีเพียร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) เปิดเผยถึงผลการประเมิน ด้านความรับผิดชอบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค พบว่า แม็คโคร ท็อปส์ และ ซีพี เฟรชมาร์ท นั้น ทำได้ดีในส่วนของการแสดงข้อมูลส่วนประกอบและแหล่งที่มาของสินค้า การให้ความรู้ด้านโภชนาการผ่านฉลาก และช่องทาง QR Code การรับประกันความสดใหม่ของสินค้า รวมถึงราคาของสินค้าที่จำหน่าย ในอนาคต สิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ควรดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ การประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกการจัดการกับข้อร้องเรียนและการเยียวยาผู้บริโภค การให้ข้อมูลที่จำเป็นกับสินค้า รวมไปถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร 

ในด้านความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและคู่ค้า พบว่า ส่วนที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทำได้ดีคือการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอาหารประเภท “เนื้อสัตว์” จากการประเมินจะเห็นได้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนในมิตินี้ เช่น  แม็คโคร ซีพี เฟรชมาร์ท และ เทสโก้ โลตัส มีการประกาศนโยบายและแนวทางการดำเนินงานในด้านของการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่สินค้าประเภท “เนื้อสัตว์” การดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะกับ “เนื้อสัตว์”  มีการประกาศนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ สำหรับสิ่งทีซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ควรต้องเร่งพัฒนาและประกาศให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ การตรวจสอบและความคุมผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ และอาหารทะเล ยังไม่มีมาตรการในการดำเนินการกับผู้ผลิตที่ไม่มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สำหรับ ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น แม็คโคร ท็อปส์ ซีพี เฟรชมาร์ท เทสโก้ โลตัส กูร์เมต์ มาร์เก็ต ทำได้ดีในด้านของการงดใช้บรรจุภัณฑ์และพลาสติก การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการกำจัดของเสียที่อันตรายและไม่อันตราย ทั้งนี้ อนาคตซูเปอร์มาร์เก็ตทุกรายควรต้องประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมในมิติอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ ระบบนิเวศน์ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงนโยบายและแนวปฏิบัติในการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต

ด้าน นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร ผู้จัดการสำนักงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (FOUNDATION FOR CONSUMERS) กล่าวเสริมว่า “ทีมผู้บริโภคที่รักต้องการให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั้งหมดไว้บนช่องทางการสื่อสารของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็นการทราบโดยทั่วกันว่าซูเปอร์มาร์เก็ตมีนโยบายด้านด้านสวัสดิการของผู้บริโภคอย่างไร และพร้อมที่จะรับผิดชอบหรือดูแลสวัสดิการของผู้บริโภคเมื่อเกิดปัญหา  โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องของการเยียวยาหรือการชดเชยให้กับผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีแนวทางในการตัดสินใจต่อได้ว่าควรจำทำอย่างไรเมื่อประสบปัญหาเหล่านี้ โดยหลายครั้งที่พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องเดิม อาทิ การติดฉลากสินค้าเกินราคา ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไป ทีมผู้บริโภคที่รักหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมาให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของผู้บริโภคมากขึ้น”

ส่วน นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสินค้าของผู้บริโภคว่า “การเข้าถึงข้อมูลเป็นพลังในมือของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวในขณะนี้ เพราะมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะในผักและผลไม้ที่อาจจะมีสารเคมีตกค้างซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะรู้ได้ก็คือการเข้าถึงข้อมูลที่มาของสินค้า เริ่มที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคโดยสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) รายละเอียดที่ระบุอยู่ในคิวอาร์โค้ดนั้นต้องมีความโปร่งใสของข้อมูล ต้นทางการผลิตที่ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทีมงานผู้บริโภคที่รักเรียกร้องให้ซูเปอร์เก็ตของไทยทำตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างที่ควรจะมีให้ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างแท้จริง”

การยกระดับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภคของซูเปอร์มาร์เก็ตจะนำไปสู่การส่งเสริมระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนได้ ต้องมาจากความจริงใจของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าต่อคู่ค้า ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นตลาดซึ่งใกล้ชิดกับปากท้องของผู้คนที่สุด 

Tags: ผู้บริโภคที่รัก ซูเปอร์มาร์เก็ต องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย Consumers Supermarket Oxfam